...

เล่าเรื่องเมืองพิจิตร จากรายงานตรวจราชการ (ตอนที่ 1)
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : เล่าเรื่องเมืองพิจิตร จากรายงานตรวจราชการ (ตอนที่ 1) --
 เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พระยศ-ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ ตรวจราชการหัวเมืองในมณฑลพิษณุโลก อันได้แก่ เมืองพิจิตร และเมืองพิษณุโลก โดยที่เมืองพิจิตร พระองค์ได้ทรงตรวจตรากิจการต่างๆ ภายในเมือง และภายหลังได้ทรงมีรายงานการตรวจราชการมาถึงพระยาศรีสหเทพ ซึ่งจากรายงานฉบับนี้ทำให้เราทราบถึงสภาพบ้านเมืองของเมืองพิจิตรเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ที่อาจไม่พบในเอกสารในชั้นหลัง ดังเรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อำเภอตัวอย่าง
 วันที่ 29 ตุลาคม ร.ศ. 117 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ จากบ้านชุมแสง แขวงเมืองนครสวรรค์โดยทางเรือ ถึงพรมแดนเมืองพิจิตร พระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรมาคอยรับเสด็จ เวลาบ่าย 2 โมง เสด็จฯ ถึงที่พักที่บางบุญนาค และได้ทรงตรวจการที่อำเภอเมืองภูมิ (ปัจจุบันคืออำเภอบางมูลนาก – ผู้เขียน) ซึ่งตั้งอยู่ที่บางบุญนาค อำเภอแห่งนี้มีการจัดการงานที่เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างมาก ถึงกับที่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงชมว่า “ทุกๆ อย่างหาที่ติไม่ได้ ดีกว่าที่ทำได้ในมณฑลอื่นๆ ทั้งสิ้น” โดยเฉพาะการบันทึกข้อความในสมุดตรวจการที่แบ่งเป็นข้อๆ ชัดเจน กรมการอำเภอสามารถเข้าใจได้ง่าย การเก็บหนังสือราชการก็ทำได้ดีไม่แพ้ในศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะเมื่อต้องการเรียกดูหนังสือใดก็สามารถหาได้ทันที
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ทำรั้วริมน้ำ
 รุ่งเช้าวันที่ 30 ตุลาคม เสด็จฯ จากบางบุญนาค ทางเรือต่อไปยังตัวเมืองพิจิตร ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าสองฟากของลำน้ำเมืองพิจิตรมีคนมาถางพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ต่างๆ มากขึ้น และได้ทรงเล่าว่า ตั้งแต่เสด็จฯ ขึ้นมาจากเมืองนครสวรรค์ก็ทรงพบว่า ตามตลิ่งสองข้างลำน้ำมีบ้านเรือนที่ทำรั้วด้วยไม้ไผ่หน้าบ้าน และมีถนนริมน้ำเหมือนกันทุกแห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกสั่งการให้กรมการอำเภอไปแนะนำให้ราษฎรทำขึ้น อย่างไรก็ตาม พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรมีความเห็นว่ารั้วไม้ไผ่นั้นไม่คงทน เพราะเมื่อถึงฤดูน้ำ น้ำจะพัดทำให้รั้วเอนเอียง ต้องเสียค่าซ่อมแซมทุกปี ควรเปลี่ยนเป็นการปลูกต้นไม้ให้เป็นรั้วแทน แต่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงมีพระดำริแย้งว่า ตลิ่งแม่น้ำมักมีการเปลี่ยนแปลงไปปีละมากๆ เสมอ ต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นรั้วไม่ทันโตก็จะพังลงน้ำตามตลิ่งไป ควรทำเป็นรั้วไม้ไผ่ดังที่เป็นอยู่ดีกว่า หากเสียหายก็ซ่อมแซมกันครั้งหนึ่งไม่เป็นการเดือดร้อนอย่างใด
 เวลาบ่าย เสด็จฯ ถึงวัดคะมัง (ปัจจุบันสะกดว่า ฆะมัง – ผู้เขียน) ซึ่งได้เคยเสด็จฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นทรงออกเรือจากวัดคะมังขึ้นมาถึงเมืองพิจิตรเวลาหนึ่งทุ่มครึ่ง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
 เรื่องราวในระหว่างการตรวจราชการเมืองพิจิตรของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพยังไม่หมดเพียงเท่านี้ โปรดติดตามในตอนต่อไป
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย. ร.5 ม 2.14/82 เรื่อง รายงานกรมหมื่นดำรงฯ ตรวจราชการ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก [ 12 ต.ค. – 26 พ.ย. 117 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ





(จำนวนผู้เข้าชม 361 ครั้ง)