...

พระเจ้าเข้านิพพาน (พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ)

         พระเจ้าเข้านิพพาน (พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ)

         ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ (ประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว) 

         สมบัติเดิมของวัดโบสถ์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี 

         โลหะผสมปิดทอง กว้าง ๘.๗ เซนติเมตร ยาว ๒๐ เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน ๑๙.๕ เซนติเมตร 

         ปัจจุบันจัดแสดงใน นิทรรศการพิเศษ “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

         ประติมากรรมรูปพระหีบประดิษฐานพระพุทธสรีระ ซึ่งแสดงปาฏิหาริย์เหยียดพระบาททะลุออกมาภายนอกพระหีบเพื่อให้พระมหากัสสปะบูชาด้วยเศียรเกล้า พระหีบปากผายมีฝาปิดตั้งบนพระจิตกาธาน ส่วนบนประดับกลีบบัวหงายพระหีบและฐานตกแต่งลวดลายนูน  มีรูปพระสาวก ๕ องค์ นั่งอยู่ฐานสี่เหลี่ยม ฐานแต่ละองค์จารึกระบุนาม คือ พระอนุรุทธ พระอุบาลี และพระมหากัสสปะ ทั้ง ๓ รูป นั่งประคองอัญชลีระหว่างอก พระสุภัททะ นั่งชันเข่าข้างหนึ่ง และพระอานนท์ นั่งกระหย่งก้มใบหน้า มือขวาทาบที่หน้าอก มือซ้ายยกป้องใบหน้า แสดงความโศกเศร้าเสียใจ

         พระสุภัททะ ที่นั่งในท่าทางไม่สำรวมนี้ คงได้แก่ พระสุภัททวุฑฒบรรพชิต ภิกษถผู้บวชเมื่อแก่  พระสุภัททะเมื่อรู้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้กล่าวว่า “การที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนั้นดีแล้ว เพราะเวลาที่ทรงพระชนม์อยู่นั้น มีแต่ทรงห้ามไม่ให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว พวกเราก็จักทำตามชอบใจได้” ครั้งพระมหากัสสปเถระได้ฟังคำพระสุภัททะเช่นนั้น ก็เกิดธรรมสังเวชและเหตุนี้ส่งผลให้เกิดการทำสังคายนาครั้งแรกขึ้นภายหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้  ๓ เดือน

         งานศิลปกรรมพระพุทธเจ้าเข้านิพพานในประเทศไทยพบหลักฐานการสร้างเก่าที่สุดในสมัยสุโขทัย เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (ประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา-รัตนโกสินทร์ พบทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม และพระพิมพ์ โดยมีคติการสร้างเพื่อบูชาเนื่องในพิธีอัฐมีบูชา หรือการบูชาในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ วันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์  

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1607 ครั้ง)


Messenger