เมื่อข้าราชการต้องย้ายที่ (ตอนที่ 1)
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ - ตามรอยบันทึก : เมื่อข้าราชการต้องย้ายที่ (ตอนที่ 1) --
เมื่อเกือบร้อยปีก่อน ข้าราชการจากหัวเมืองชานกรุงคนหนึ่ง ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำ ณ ดินแดนที่ห่างไกล เขาได้เขียนรายงานการเดินทางฉบับหนึ่งถวายแด่กรมพระดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) รายงานฉบับนี้บรรยายถึงการเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ ซึ่งนอกจากจะฉายภาพให้เห็นถึงความยากลำบากของการเดินทางไปยังหัวเมืองในยุคที่ถนนยังเข้าไปไม่ถึงแล้ว ข้าราชการผู้นี้ยังได้บันทึกสภาพบ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงตำนานเรื่องเล่าๆ ที่ได้ประสบพบเจอในระหว่างการเดินทาง อย่างที่ผู้บันทึกระบุว่า “เท่าที่ทราบที่เห็นด้วยตา” อีกด้วย ซึ่งนับว่ามีน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และสังคมที่อาจไม่พบเจอในเอกสารราชการอื่นๆ ดังเรื่องราวที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
มิจฉาชีพบนรถไฟ
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2468 รองอำมาตย์เอก พระเจดีย์รัฐธำรง (พูล ติณานนท์) นายอำเภอเมืองนครปฐม ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดหล่มศักดิ์ (สะกดตามต้นฉบับ) การเดินทางเพื่อย้ายไปประจำการ ณ ที่แห่งใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2468 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ คุณพระพร้อมด้วยคนใช้ รวม 3 คน ตีตั๋วรถไฟชั้น 3 ไปลงที่สถานีพิษณุโลก ระหว่างทางคุณพระได้ยินผู้โดยสารพูดกันว่า ของมักหายทุกเที่ยวรถด่วน จึงต้องคอยระวังของของตนเอง เมื่อขบวนรถจอดที่สถานีบ้านหมี่ มีคนขึ้นมาบนรถ 2 คน นั่งปะปนกับผู้โดยสาร เมื่อคนตรวจตั๋วเดินผ่านก็ทำทีเป็นหลับ พอคนตรวจตั๋วไปแล้วก็ลุกขึ้นไปยืนที่บันไดช่วงรถจักรเปิดหวูดเมื่อเข้าใกล้สถานี พอถึงสถานีห้วยแก้วทั้งสองคนก็โดดลงรถไป จากนั้นมีเสียงผู้โดยสารร้องเอะอะว่าของของตนหาย จึงเข้าใจว่าสองคนนั้นคือคนร้ายขโมยของ รถไฟถึงพิษณุโลกเช้ามืดวันที่ 21 ธันวาคม จึงเช่าห้องนอนของสถานีเป็นที่พัก
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
พบเทศา-หาคนหาม
เช้าวันที่ 21 ธันวาคม คุณพระเข้าพบสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก รับบัญชามาว่าให้ช่วยทำถนนจากหล่มศักดิ์มายังมณฑล จากนั้นได้แวะไปชมตลาดเมืองพิษณุโลก ด้วยความที่คุณพระเป็นคนช่างสังเกตและจดบันทึกได้ละเอียด จึงทำให้เราทราบว่าที่ตลาดเมืองพิษณุโลกในขณะนั้นมีทั้งสินค้าจากกรุงเทพฯ และสินค้าพื้นเมืองจำพวกข้าว ยาสูบ ครั่ง และมีไก่ขายตัวละ 50 สตางค์ – 1 บาท แล้วแต่ขนาดของไก่
วันที่ 22 ธันวาคม ไปรับคำสั่งเดินทาง กะระยะทางจากพิษณุโลกถึงจังหวัดหล่มศักดิ์ราว 3,200 เส้น (128 กิโลเมตร) แต่ยังเดินทางไม่ได้ทันที เพราะต้องหาคนหาบหามและม้าก่อน โดยขุนวุฒิราษฎร์รักษา นายอำเภอเมืองพิษณุโลก รับเป็นธุระจัดการในเรื่องนี้ จนได้คนหาบหาม 6 คน ค่าจ้างคนละ 75 สตางค์ ม้า 3 ม้า คิดม้าพร้อมอาน 1 ม้า วันละ 2 บาท นายอำเภอได้เล่าให้ฟังว่า อำเภอเมืองพิษณุโลกมีผู้ร้ายชุกชุม และมีทหารจากกรมอากาศยานมาทำแผนที่อยู่ที่นี่เดือนเศษแล้ว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เหนื่อยนักพักศาลา
วันที่ 23 ธันวาคม คุณพระพร้อมคณะเริ่มออกเดินทางจากพิษณุโลกเวลาประมาณ 9 โมงเช้า โดยเดินทางข้ามทางรถไฟไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แวะพักตามศาลาต่างๆ เป็นระยะ แต่ละระยะห่างกันตั้งแต่ 40 เส้น (1.6 กิโลเมตร) จนถึง 100 เส้น (4 กิโลเมตร) ศาลานี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ศาลาบ่อเจ๊ก ศาลาโคกช้าง ศาลาชุมแสง ศาลาเชิงเขาสมอแคลง คุณพระบันทึกไว้ว่า ศาลาที่พักเหล่านี้เป็นศาลาเสาพื้นไม้จริง หลังคามุงกระเบื้องไม่มีฝา ที่สำคัญศาลาส่วนใหญ่มักจะมีน้ำ สำหรับผู้ที่มาพักได้อุปโภคบริโภค ระหว่างที่พักอยู่ที่ศาลาชุมแสง ได้ชาวบ้านนำช้างต่อมาโพนช้างป่า (คือการคล้องช้างป่าโดยนำเอาช้างจำนวนมากไปไล่ต้อน - ผู้เขียน) ชาวบ้านบอกว่าปีกลายได้ช้างป่า 3 เชือก นำไปขายที่อำเภอภูเขียวได้ราคาเชือกละ 3,000 บาทเป็นอย่างแพง หลังจากที่เดินทางเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ในที่สุดก็มาถึงจุดพักแรมจุดแรกคือที่วัดป่าหมาก อำเภอป่าหมาก (อำเภอวังทองในปัจจุบัน) เมื่อเวลา 16.00 น.
การเดินทางของพระเจดีย์รัฐธำรงยังคงต้องบุกป่าฝ่าดงอีกมาก โปรดติดตามได้ในตอนต่อไป
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ 2.42/25 เรื่อง รายงานเดินทางของพระเจดีย์รัฐธำรงไปเมืองหล่มศักดิ์ [ 6 ม.ค. 2468 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
เมื่อเกือบร้อยปีก่อน ข้าราชการจากหัวเมืองชานกรุงคนหนึ่ง ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำ ณ ดินแดนที่ห่างไกล เขาได้เขียนรายงานการเดินทางฉบับหนึ่งถวายแด่กรมพระดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) รายงานฉบับนี้บรรยายถึงการเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ ซึ่งนอกจากจะฉายภาพให้เห็นถึงความยากลำบากของการเดินทางไปยังหัวเมืองในยุคที่ถนนยังเข้าไปไม่ถึงแล้ว ข้าราชการผู้นี้ยังได้บันทึกสภาพบ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงตำนานเรื่องเล่าๆ ที่ได้ประสบพบเจอในระหว่างการเดินทาง อย่างที่ผู้บันทึกระบุว่า “เท่าที่ทราบที่เห็นด้วยตา” อีกด้วย ซึ่งนับว่ามีน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และสังคมที่อาจไม่พบเจอในเอกสารราชการอื่นๆ ดังเรื่องราวที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
มิจฉาชีพบนรถไฟ
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2468 รองอำมาตย์เอก พระเจดีย์รัฐธำรง (พูล ติณานนท์) นายอำเภอเมืองนครปฐม ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดหล่มศักดิ์ (สะกดตามต้นฉบับ) การเดินทางเพื่อย้ายไปประจำการ ณ ที่แห่งใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2468 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ คุณพระพร้อมด้วยคนใช้ รวม 3 คน ตีตั๋วรถไฟชั้น 3 ไปลงที่สถานีพิษณุโลก ระหว่างทางคุณพระได้ยินผู้โดยสารพูดกันว่า ของมักหายทุกเที่ยวรถด่วน จึงต้องคอยระวังของของตนเอง เมื่อขบวนรถจอดที่สถานีบ้านหมี่ มีคนขึ้นมาบนรถ 2 คน นั่งปะปนกับผู้โดยสาร เมื่อคนตรวจตั๋วเดินผ่านก็ทำทีเป็นหลับ พอคนตรวจตั๋วไปแล้วก็ลุกขึ้นไปยืนที่บันไดช่วงรถจักรเปิดหวูดเมื่อเข้าใกล้สถานี พอถึงสถานีห้วยแก้วทั้งสองคนก็โดดลงรถไป จากนั้นมีเสียงผู้โดยสารร้องเอะอะว่าของของตนหาย จึงเข้าใจว่าสองคนนั้นคือคนร้ายขโมยของ รถไฟถึงพิษณุโลกเช้ามืดวันที่ 21 ธันวาคม จึงเช่าห้องนอนของสถานีเป็นที่พัก
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
พบเทศา-หาคนหาม
เช้าวันที่ 21 ธันวาคม คุณพระเข้าพบสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก รับบัญชามาว่าให้ช่วยทำถนนจากหล่มศักดิ์มายังมณฑล จากนั้นได้แวะไปชมตลาดเมืองพิษณุโลก ด้วยความที่คุณพระเป็นคนช่างสังเกตและจดบันทึกได้ละเอียด จึงทำให้เราทราบว่าที่ตลาดเมืองพิษณุโลกในขณะนั้นมีทั้งสินค้าจากกรุงเทพฯ และสินค้าพื้นเมืองจำพวกข้าว ยาสูบ ครั่ง และมีไก่ขายตัวละ 50 สตางค์ – 1 บาท แล้วแต่ขนาดของไก่
วันที่ 22 ธันวาคม ไปรับคำสั่งเดินทาง กะระยะทางจากพิษณุโลกถึงจังหวัดหล่มศักดิ์ราว 3,200 เส้น (128 กิโลเมตร) แต่ยังเดินทางไม่ได้ทันที เพราะต้องหาคนหาบหามและม้าก่อน โดยขุนวุฒิราษฎร์รักษา นายอำเภอเมืองพิษณุโลก รับเป็นธุระจัดการในเรื่องนี้ จนได้คนหาบหาม 6 คน ค่าจ้างคนละ 75 สตางค์ ม้า 3 ม้า คิดม้าพร้อมอาน 1 ม้า วันละ 2 บาท นายอำเภอได้เล่าให้ฟังว่า อำเภอเมืองพิษณุโลกมีผู้ร้ายชุกชุม และมีทหารจากกรมอากาศยานมาทำแผนที่อยู่ที่นี่เดือนเศษแล้ว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เหนื่อยนักพักศาลา
วันที่ 23 ธันวาคม คุณพระพร้อมคณะเริ่มออกเดินทางจากพิษณุโลกเวลาประมาณ 9 โมงเช้า โดยเดินทางข้ามทางรถไฟไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แวะพักตามศาลาต่างๆ เป็นระยะ แต่ละระยะห่างกันตั้งแต่ 40 เส้น (1.6 กิโลเมตร) จนถึง 100 เส้น (4 กิโลเมตร) ศาลานี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ศาลาบ่อเจ๊ก ศาลาโคกช้าง ศาลาชุมแสง ศาลาเชิงเขาสมอแคลง คุณพระบันทึกไว้ว่า ศาลาที่พักเหล่านี้เป็นศาลาเสาพื้นไม้จริง หลังคามุงกระเบื้องไม่มีฝา ที่สำคัญศาลาส่วนใหญ่มักจะมีน้ำ สำหรับผู้ที่มาพักได้อุปโภคบริโภค ระหว่างที่พักอยู่ที่ศาลาชุมแสง ได้ชาวบ้านนำช้างต่อมาโพนช้างป่า (คือการคล้องช้างป่าโดยนำเอาช้างจำนวนมากไปไล่ต้อน - ผู้เขียน) ชาวบ้านบอกว่าปีกลายได้ช้างป่า 3 เชือก นำไปขายที่อำเภอภูเขียวได้ราคาเชือกละ 3,000 บาทเป็นอย่างแพง หลังจากที่เดินทางเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ในที่สุดก็มาถึงจุดพักแรมจุดแรกคือที่วัดป่าหมาก อำเภอป่าหมาก (อำเภอวังทองในปัจจุบัน) เมื่อเวลา 16.00 น.
การเดินทางของพระเจดีย์รัฐธำรงยังคงต้องบุกป่าฝ่าดงอีกมาก โปรดติดตามได้ในตอนต่อไป
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ 2.42/25 เรื่อง รายงานเดินทางของพระเจดีย์รัฐธำรงไปเมืองหล่มศักดิ์ [ 6 ม.ค. 2468 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 268 ครั้ง)