ประติมากรรมดินเผารูปเด็กออกจากหอยสังข์ (พระสังข์ทอง)
ประติมากรรมดินเผารูปเด็กออกจากหอยสังข์ (พระสังข์ทอง)
ศิลปะอยุธยา
นายพิชัย วงษ์สุวรรณ มอบให้เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๙
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมรูปเด็กออกมาจากหอยสังข์ ศีรษะด้านบนไว้ผมจุก ใบหน้ากลม ลำตัวตั้งตรง ส่วนขาขวาอยู่ภายในเปลือกหอยสังข์ ประวัติจากผู้มอบระบุว่าพบบริเวณคลองเมือง (แม่น้ำลพบุรี) ใกล้เมืองเก่าพระนครศรีอยุธยา
ประติมากรรมชิ้นนี้สันนิษฐานว่าทำขึ้นตามนิทานเรื่อง “สังข์ทอง” ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีเค้าโครงมาจากเรื่อง “สุวรรณสังขชาดก”* นิทานเรื่องนี้มีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และใช้ในการแสดงละคร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง
สุวรรณสังขชาดก พระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง และนิทานเรื่องสังข์ทอง มีตัวเอกในเรื่องคือ “พระสังข์” ทั้งสามเรื่องมีเค้าโครงเนื้อเรื่องที่ใกล้เคียงกัน แต่การลำดับเรื่องและรายละเอียดบางตอนอาจแตกต่างกันไปบ้าง เช่น การเสด็จเลียบพระนครและท้าวยศวิมลบวงสรวงขอพระราชโอรสนั้น ไม่ปรากฏในสุวรรณสังขชาดก และนิทานสังข์ทอง เป็นต้น รวมทั้งชื่อตัวละครและชื่อสถานที่ในสุวรรณสังขชาดก กับพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง** ก็แตกต่างด้วยเช่นกัน
เรื่องย่อวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ ทั้งบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๒ และนิทานสังข์ทอง มีเนื้อเรื่องว่า ท้าวยศวิมลกับพระมเหสีนางจันท์เทวี ไม่มีพระราชโอรส จึงทำการบวงสรวง กระทั่งนางจันท์เทวีทรงพระครรภ์และให้กำเนิดออกมาเป็นพระสังข์ นางจันทาสนมเอกได้ติดสินบนโหรหลวงทำนายให้ร้ายแก่นางจันท์เทวีว่า การให้กำเนิดออกมาเป็นหอยสังข์นั้นเป็นอัปมงคลต่อบ้านเมือง ท้าวยศวิมลหลงเชื่อจึงขับไล่นางจันท์เทวีออกจากเมือง นางจันท์เทวีได้ไปอยู่กับสองตายาย ทำงานบ้านและเก็บฟืนเลี้ยงชีพ วันหนึ่งพระสังข์เกิดสงสารมารดา จึงแอบออกมาจากหอยสังข์ช่วยทำงานบ้านขณะที่พระนางจันท์เทวีออกไปหาฟืน และกลับเข้าไปในหอยสังข์อีกครั้งเมื่อนางกลับมาถึงบ้าน ฝ่ายพระนางจันท์เทวีเมื่อรู้ว่าบุตรซ่อนอยู่ในหอยสังข์จึงทุบหอยสังข์แตกแล้วจึงชุบเลี้ยงพระสังข์จนเติบโต
เรื่องสังข์ทองแพร่หลายไปท้องที่ต่าง ๆ บางแห่งปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเช่นที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานความเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายเรื่องสังข์ทองไว้ว่า
“...นิทานเรื่องสังข์ทองนี้มีในคัมภีร์ปัญญาสชาดก เรียกว่าสุวัณณสังขชาดก ถึงเชื่อถือกันว่าเป็นเรื่องจริง พวกชาวเมืองเหนืออ้างว่าเมืองทุ่งยั้ง***เป็นเมืองท้าวสามนต์ ยังมีลานศิลาแลงแห่ง ๑ ว่าเป็นสนามคลีของพระสังข์ อยู่ไม่ห่างวัดพระมหาธาตุนัก ที่ในวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุ ฝาผนังก็เขียนเรื่องสังข์ทอง เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงเก่ายังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตกก็อ้างว่า เมืองตะกั่วป่า****เป็นเมืองท้าวสามนต์อีกแห่ง ๑ เรียกภูเขาลูก ๑ ว่าเขาขมังม้า อธิบายว่าเมืองพระสังข์ตีคลีชนะ ได้ขี่ม้าเหาะข้ามภูเขานั้นไปดังนี้…”
*หนึ่งในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่แพร่หลายในพื้นที่ล้านนา-อยุธยา กล่าวถึงการเสวยชาติของพระโพธิ์สัตว์
**ทั้งนี้ชื่อตัวละครและสถานที่ในพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง กับนิทานสังข์ทอง นั้นมีความเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองยังมีรายละเอียดชื่อและสถานที่ มากกว่านิทานพระสังข์ทอง เช่น ชื่อเมืองสามล (เมืองของนางรจนา พระมเหสีของพระสังข์ทอง) กลับไม่ปรากฏในนิทานสังข์ทอง
***ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
****ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
อ้างอิง
ปัญญาสชาดกเล่ม ๑-๒. กรุงเทพฯ: มูลนิธิออมสินเพื่อสังคม, ๒๕๕๔.
พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครนอก สังข์ทอง. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๐.
ศุภธัช คุ้มครอง และสุปาณี พัดทอง. “สังข์ทองตอนกำเนิดพระสังข์ : กรณีศึกษาสุวรรณสังชาดก สังข์ทองฉบับพระราชนิพนธ์ และนิทานเรื่องสังข์ทอง.” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๑, ๑ (มกราคม – มิถุนายน ๒๕๖๔): ๑๘๙-๒๑๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 1089 ครั้ง)