กรมศิลปากรจัดสัมมนาวิจัย วิจักขณ์ นำเสนอผลงานวิชาการประจำปี ๒๕๖๕

          วันนี้ (วันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖) เวลา ๐๙.๐๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา วิจัย วิจักขณ์ การนำเสนอผลงานวิชาการของกรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๖๕ และปาฐกถาพิเศษ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาจำนวนมาก 


          กรมศิลปากรจัดโครงการสัมมนาวิจัย วิจักขณ์ การนำเสนอผลงานวิชาการของกรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๖๕ ระหว่างวันที่ ๓๐ – ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมใหญ่ และห้องดอกไม้สด สำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัย พัฒนาวิธีการปฏิบัติงานอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่ความรู้ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัด ทั้งด้านโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ ภาษา เอกสาร หนังสือ ประวัติศาสตร์ นาฏดุริยางศิลป์ และศิลปกรรม โดยจัดการบรรยายและนำเสนอผลงานมากกว่า ๔๐ เรื่อง อาทิ การขุดตรวจทางโบราณคดีอาคารป่าไม้ภาคแพร่, ธรรมาสน์ในจังหวัดลำพูน, บัฏเทพนพเคราะห์, ภาพเขียนสีค้นพบใหม่ที่ถ้ำสิงโต เขาผาแรต อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี, สองกษัตราลงสรง : นาฏยประดิษฐ์ในการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์, เรื่องเล่าจากสุสาน : ข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เวียงท่ากาน, สังเขปเรื่อง "ม้า" : จากแชงกรีล่าสู่ล้านนาและสยาม, เทคนิคการประดับกระจกโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙, ฐานรากหลักฐานโบราณคดี ป้อมมหากาฬ กําแพงพระนคร และกําแพงวังหน้ากรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟสบุ๊ก ไลฟ์ เพจ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม อีกด้วย 




การสัมมนาวิจัย วิจักขณ์ เป็นโครงการที่กรมศิลปากรจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสนับสนุนให้นักวิชาการของกรมศิลปากรได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิเคราะห์ วิจัย ทั้งวิทยาการใหม่ ๆ และวิทยาการที่ต่อเนื่องในเชิงลึก เพื่อนำไปพัฒนาการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ความรู้ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติสู่ทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งนอกจากจะเป็นการถ่ายทอดทักษะความรู้ให้กับนักวิชาการและประชาชนที่สนใจแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาผลงานทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ สืบทอด สร้างสรรค์ และเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ กรมศิลปากรหวังว่าองค์ความรู้จากการสัมมนาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปหันมาสนใจ ตระหนักในคุณค่าและเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น






(จำนวนผู้เข้าชม 493 ครั้ง)

Messenger