ขอเชิญชมนิทรรศการภายในอาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จัดแสดงโบราณวัตถุ ๒,๒๔๔ รายการ



          ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ กรมศิลปากรมีนโยบายปรับปรุงและพัฒนา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา โดยการจัดสร้างอาคารหลังใหม่ สำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องทองอยุธยาที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้อยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจ ทันสมัย และได้มาตรฐานตามหลักพิพิธภัณฑสถานสากล เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรมแก่สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นการสร้างภาพจำและความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของไทย 
          อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น ลักษณะเป็นอาคารไทยประยุกต์ ๒ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๓,๒๗๕ ตารางเมตร แบ่งเนื้อหาการจัดแสดง ออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ 
ส่วนที่ ๑ จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ 




ส่วนที่ ๒ จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องพุทธบูชา เครื่องอุทิศ และพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงกรุจำลองวัดราชบูรณะ 

ส่วนที่ ๓ จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ พระปรางค์วัดพระราม พระปรางค์วัดมหาธาตุ เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ และเจดีย์ศรีสุริโยทัย 






จำนวนโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในอาคารเครื่องทอง มีจำนวนทั้งสิ้น ๒,๒๔๔ รายการ มีโบราณวัตถุชิ้นเด่น อาทิ 
พระแสงขรรค์ชัยศรี 
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
เหล็ก หินเขี้ยวหนุมาน และทองคำประดับแก้วสี 
พบในกรุประธานชั้นที่ ๒ พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
พระสุวรรณภิงคาร 
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
ทองคำบุขึ้นรูป ตกแต่งด้วยการสลักดุนลาย 
พบในกรุประธานชั้นที่ ๒ พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

พระคชาธารจำลอง 
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
ทองคำประดับอัญมณีและแก้วสี 
พบในกรุประธานชั้นที่ ๒ พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
จุลมงกุฎ 
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
ทองคำประดับแก้วสี 
พบในกรุประธานชั้นที่ ๒ พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
พระสุวรรณมาลา 
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
เส้นลวดทองคำถักขึ้นรูปและตกแต่งลาย 
พบในกรุประธานชั้นที่ ๒ พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา
 
สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 
ศิลปะอยุธยาตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
ทองคำประดับอัญมณี 
พบในกรุประธาน พระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรจุอยู่ภายในสถูปชั้นที่ ๕ 
 
ตลับรูปสิงโต 
ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
ทองคำประดับอัญมณี 
พบในกรุเล็กใต้พื้นพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณใต้ฐานเจดีย์หรือฐานมณฑป 

          บัดนี้ อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พร้อมเปิดให้บริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป เปิดทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐น. – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์) อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๓๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๕๐ บาท ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ามาใช้บริการจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเครื่องทองอยุธยามากยิ่งขึ้น ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจและความตระหนักในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศชาติต่อไป


 

(จำนวนผู้เข้าชม 5080 ครั้ง)

Messenger