24 ตุลาคม 2565 วันดิวาลี (For English, please see below)
24 ตุลาคม 2565 วันดิวาลี (For English, please see below)
เทศกาลดิวาลี, ดีปาวลี, ทิวาลี หรือ ทีปาวลี
คำว่า ดิวาลี (Diwali หรือ Divali) กร่อนมาจากคำว่า “ทีปวาลี” (Deepavali หรือ Dipavali) ในภาษาสันสกฤตแปลว่า “แถวของตะเกียง”
เทศกาลดิวาลีจึงมีความหมายว่าเทศกาลแห่งแสงไฟ
เทศกาลดิวาลีเป็นเทศกาลของคนอินเดียไม่ว่าจะนับถือศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ หรือศาสนาเชน ประวัติความเป็นมาของเทศกาลนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละตำนาน แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการรำลึกถึงเรื่องราวที่พระรามทรงมีชัยเหนือราวณะ(ทศกัณฐ์) โดยการเฉลิมฉลองด้วยแสงไฟนี้ปรากฏในมหากาพย์รามายณะในพิธีฉลองชัยชนะและต้อนรับการกลับพระราม นางสีดา และพระลักษมณะ ชาวเมืองอโยธยาได้จัดงานเฉลิมฉลองด้วยไฟครั้งใหญ่ ชัยชนะแห่งพระรามนี้เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ชนะความมืด หรือธรรมะที่ชนะอธรรม
ดิวาลี ยังปรากฏในจารึกของอินเดียหลายหลัก เช่น จารึกแผ่นทองแดงของพระเจ้ากฤษณะที่ 3 ราชวงศ์รัชตระกุตา (Rāṣṭrakūṭa) (พ.ศ. 1482–1510) ระบุคำว่า "Dipotsava"
ในจารึกภาษาสันสกฤตที่วัด Ranganatha ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 กล่าวถึง
"เทศกาลมงคลแห่งแสงซึ่งขจัดความมืดมนอนธการ แต่กาลก่อนได้รับการเฉลิมฉลองโดยกษัตริย์ อิลา การตวีรยะ และ สาการะ...เฉกเช่นท้าวสักระ(พระอินทร์)ของเหล่าทวยเทพ กษัตริย์ผู้รู้พระเวทจะเฉลิมฉลอง ณ ที่แห่งพระวิษณุซึ่งมีองค์พระลักษมีผู้สุกสกาวประทับอยู่บนพระเพลาแห่งพระองค์"
โดยปกติแล้วเทศกาลดิวาลีจะเฉลิมฉลองกันถึง 5 วัน ในเดือนกรรติกา (ประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน)
วันที่ 1 วันธนเตรส (Dhan Taras) วันแรม 13 ค่ำ
เป็นวันจัดเตรียมทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้านเรือน วันนี้จะมีการบูชาเทพธันวันตริ เทพเจ้าแห่งอายุรเวทและแพทย์ศาสตร์ และยังเป็นหนึ่งในอวตารของพระวิษณุ ในอินเดียยังมีการประกาศให้วันนี้เป็น "วันอายุรเวทแห่งชาติ" อีกด้วย
วันที่ 2 วันนรกจตุรทศี (Naraka Chaturdashi) หรือ กาลีเจาทส(Kali Chaudas)หรือ โชติ ดิวาลี(Choti Diwali) วันแรม 14 ค่ำ เป็นวันเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะกับพระนางสัตยภามาเหนือปีศาจนรกาสูร หรือบ้างว่าเป็นพระแม่กาลีสังหารนรกาสูร ผู้คนจะตื่นแต่เช้ามืด เจิมหน้าผาก อาบน้ำ และมีการจุดพลุไฟ ในตอนเช้ามีการบูชาด้วยเครื่องหอม ถวายมะพร้าวแด่หนุมาน อาหาร 56 อย่าง (Mahaprasad),น้ำตาลอ้อย, ข้าวเม่า(Poha), เนยกี(Ghee) และน้ำตาล บางพื้นที่จะมีการทำหุ่นจำลองนรกาสูรและนำมาเผาในเวลา 04.00 น.
วันที่ 3 วันทีปวาลี (Dipawali) หรือ วันลักษมีบูชา (Lakshmi Puja) หรือวันกาลีบูชา (Kali Puja) วันแรม 15 ค่ำ เป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ ผู้คนจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนาน มีการมอบของขวัญและวันแห่งการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง วันนี้เป็นวันทำการบูชาพระแม่เป็นสำคัญ มีการจุดตะเกียงและให้สว่างทั่วทั้งบริเวณบ้าน บ้างก็จุดพลุ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ความมืด หากบูชาพระแม่ลักษมี เหล่าผู้หญิงจะบูชาในช่วงเย็น และตกแต่งบ้านด้วยรังโกลี(Rangoli) สัญลักษณ์ของการต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือน เพื่อต้อนรับพระลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่ง ส่วนผู้ที่บูชาพระแม่กาลีจะบูชาในช่วงกลางคืนโดยการนั่งภาวนาตั้งแต่ยามค่ำจนรุ่งสาง
วันที่ 4 วันโควรรธนะบูชา (Govardhan Puja) หรือวันบาลีประติปทา (Bali Pratipadā) วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันบูชาเขาโควรรธนะและกฤษณะ ซึ่งเป็นการระลึกถึงวันที่พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะเพื่อปกป้องชาวบ้านจากฝนที่พระอินทร์บันดาล หรือบางแห่งว่าเป็นวันที่ท้าวบาลี(มหาพลี) ได้กลับมายังโลกมนุษย์ และเฉลิมฉลองแด่พราหมณ์วามนะ อวตารหนึ่งของพระวิษณุที่ก้าว 3 ก้าว (ปางวิษณุตรีวิกรม) และทำให้ท้าวบาลี (ท้าวมหาพลี) สำนึกผิดและถูกเนรเทศไปยังโลกบาดาล
วันที่ 5 วันยมทวีตียา (Yama Dwitiya) หรือ ภาอีทูช (Bhai Duj) หรือวันวิศวกรรม บูชา (Vishwakarma Puja) วันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันสุดท้ายแห่งเทศกาลดิวาลี เป็นวันที่เชื่อว่าพระยม เทพเจ้าแห่งความตายมาเยี่ยมเทวียามีหรือยมุนา(Yami/Yamuna) น้องสาว ถือเป็นวันเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชาย-น้องสาว ในแถบโรงงานอุตสาหกรรม/โรงงานช่างต่างๆ จะบูชาพระวิศวกรรมและนับถือวันนี้เป็นวันแห่งการสร้าง การออกแบบและงานช่างอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะ และย่นระยะเวลามาเหลือเพียงสองหรือสามวันโดยจะกระทำกันในวันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ(Dhanteras) และในวันแรม 15 เดือนสิบ (Diwali)
การกระทำพิธีบูชาดิวาลีนั้นจะทำ การบูชาเทพและเทวีหลายองค์ด้วยกัน
1. พระแม่ลักษมี เทวีผู้ประทานโชคลาภ ทรัพย์สมบัติ และความอุดมสมบูรณ์
2. พระคเณศ เทพแห่งความสำเร็จและผู้ขจัดอุปสรรค
3. ท้าวกุเวร เทพแห่งความร่ำรวย
นอกจากนี้ยังมีการบูชาขอพรจาก หนุมาน พาลี พระยม พระแม่กาลี พระแม่สรัสวตี และพระกฤษณะ
(ข้อมูลการบูชาปัจจุบันโดยวัดเทพมณเทียร สมาคมฮินดูสมาช)
(จำนวนผู้เข้าชม 794 ครั้ง)