ประติมากรรมนาค ๗ เศียร
ประติมากรรมนาค ๗ เศียร
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
เดิมอยู่ที่วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ทางเข้าหน้าอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมนาค ๗ เศียร สลักจากศิลาแบ่งออกเป็นสองส่วนตั้งซ้อนกัน ท่อนบนสลักรูปนาค ๗ เศียร มองตรงมาข้างหน้า จมูกนาคยื่นออกมาเป็นสามเหลี่ยม เศียรนาคตรงกลางแสดงเคราใต้คาง พังพานนาครูปทรงคล้ายใบโพธิ์ ขอบพังพานสลักลายกระหนกซ้อนกันสองชั้น คอนาคด้านหน้าสลักรูปดอกไม้แปดกลีบประดับอยู่กึ่งกลาง ส่วนล่างสลักรูปดอกบัวบาน หินท่อนล่างสลักหินเป็นลำตัวนาคที่มีเกล็ดรูปทรงโค้งมน บริเวณส่วนต้นของลำตัวที่ติดกับพังพานสลักลายเกลียวกระหนก* ประติมากรรมนาค ๗ เศียร นี้มีสองชิ้นตั้งคู่กัน
ในหนังสือ “อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แล พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” (พ.ศ. ๒๔๗๐) ระบุว่าเดิมประติมากรรมศิลานาค ๗ เศียร คู่นี้ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ดังข้อความว่า “...ที่เฉลียงหน้ามีศีร์ษะนาคราชคู่ ๑ ฝีมือช่างครั้งสมัยสุโขทัย ได้มาจากวัดราชโอรส สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงได้มาจากเมืองสุโขทัย แต่เมื่อยังทรงผนวชแล้วถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว...” แต่อย่างไรก็ดีจากวิธีการสลักและบากลายกระหนกรวมถึงวัสดุที่ใช้แกะสลักมีรูปแบบที่ต่างไปจากฝีมือช่างสมัยสุโขทัย จึงน่าจะสลักขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง
ประติมากรรมนาคนิยมใช้ประดับศาสนสถาน โดยมีคติที่เกี่ยวข้องกับการเป็น “ทวารบาล” หรือผู้ปกปักรักษาศาสนสถาน หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีตำนานว่านาคเป็นเจ้าของผู้ครอบครองดินแดนนั้นมาแต่เดิมก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนา ดังตัวอย่างในนิทานอุรังคธาตุ เนื้อหากล่าวถึงพระพุทธเจ้าประทับอยู่ภูกูเวียน ระหว่างนั้นมีบรรดานาคเข้ามาจะทำร้ายพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าจึงแสดงปาฏิหาริย์ปราบนาค พร้อมทั้งแสดงธรรมจนนาคยอมอยู่ภายใต้พุทธศาสนา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทให้แก่เหล่านาคไว้สักการะบูชาแทนพระองค์ เช่น ประดิษฐานไว้บนแผ่นหินภูกูเวียนใกล้ปากถ้ำที่สุวรรณนาคอาศัยอยู่ และที่หนองบัวบานสำหรับพุทโธธปาปนาค เป็นต้น จากนั้นพระองค์ได้กำชับเหล่านาคไม่ให้ไปทำร้ายผู้ใดและตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์**
นอกจากนี้พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทยังมีความเชื่อว่านาคเป็นบริวารของท้าววิรูฬปักษ์ โลกบาลผู้รักษาทิศตะวันตก ดังปรากฏคตินี้ใน สมบัติอมรินทร์คำกลอน ของเจ้าพระยาคลัง (หน) ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“นั่นองค์วิรุฬปักษ์เทเวศ อยู่ประเทศปราจิมทิศา
เป็นปิ่นมงกุฎแห่งนาคา ทรงศักดาฤทธิราญรอน”
และในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ฉบับที่แต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ยังระบุด้วยว่า นาคเป็นสัตว์ที่อยู่รักษาด่านแรกของทางขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น
*ลายเกลียวกระหนก หมายถึง ลายที่ผูกลายกระหนกเรียงกันคล้ายเชือกฟั่นเป็นเกลียว
**ไตรสรณคมน์ หมายถึง การยึดถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกโดยการน้อมนำเอาพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ มาเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ
อ้างอิง
ราชบัณฑิตยสภา. อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๐.
ศานติ ภักดีคำ. นาค. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๖.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาคมาจากไหน ?. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: นาตาแฮก, ๒๕๖๕.
สมชาย ณ นครพนม และคณะ. ทวารบาล ผู้รักษาศาสนสถาน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๖. (หนังสือประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๔๖).
สำนักงานราชบัณฑิตสภา. พจนานุกรมศัพท์ลายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 1558 ครั้ง)