กรมศิลปากรเฝ้าระวังสถานการณ์โบราณสถานเสี่ยงน้ำท่วม
นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร ได้สำรวจโบราณสถานทั่วประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนมากและน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งเป็นปัญหาอุทกภัย และรายงานสรุปสถานการณ์ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ว่ามีโบราณสถาน จำนวน ๘๒ แห่ง อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑. เสี่ยงมาก จำนวน ๘ แห่ง ที่โบราณสถานมีน้ำท่วมขังในระดับสูงและมีแนวโน้มว่าจะท่วมเป็นเวลานาน แต่โบราณสถานเหล่านี้ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงโดยกรมศิลปากรแล้ว เช่น เมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ และปราสาทตามอญ จังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษและต่อเนื่องคือ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ป้อมเพชร จ.พระนครศรีอยุธยา
นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร
วัดกษัตราธิราช จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดเจ้าย่า จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดเชิงท่า จ.พระนครศรีอยุธยา
เวียงกุมกาม จ.เชียงใหม่
เวียงกุมกาม จ.เชียงใหม่
เวียงกุมกาม จ.เชียงใหม่
๒. เสี่ยงปานกลาง จำนวน ๓๗ แห่ง ที่โบราณสถานเริ่มมีน้ำท่วมขังแต่ยังอยู่ในระดับต่ำและยังไม่มีแนวโน้มจะท่วมมากขึ้น อีกทั้งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงแล้ว เช่น ปราสาท (อิฐ) บ้านไผ่ จังหวัดสระแก้ว กู่โพนระฆัง จังหวัดร้อยเอ็ด และ กู่ประภาชัย จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ซึ่งมีน้ำฝนและน้ำใต้ดินมาจากแม่น้ำมูลที่กำลังเฝ้าระวังเช่นกัน
กู่ประภาชัย จ.ขอนแก่น
กู่ประภาชัย จ.ขอนแก่น
๓. เสี่ยงน้อย จำนวน ๓๗ แห่ง ที่โบราณสถานที่มีน้ำท่วมขังเฉพาะตอนฝนตกและสามารถระบายออกได้อย่างรวดเร็ว เช่น วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดโขลงสุวรรณคีรี (คูบัว) จังหวัดราชบุรี ปราสาทกังแอน จังหวัดสุรินทร์ กู่แก้วสี่ทิศ จังหวัดศรีสะเกษ ปรางค์กู่ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โบราณสถานในเวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ และโบราณสถานในเมืองโบราณเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี
วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนมากและน้ำล้นตลิ่งซึ่งเป็นปัญหาอุทกภัย กรมศิลปากร จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติการเฝ้าระวังโบราณสถานอย่างต่อเนื่อง ส่วนโบราณสถานที่อยู่ในการดูแลของวัด/เอกชน ได้ทำการประสานเครือข่ายภาคประชาชนของกรมศิลปากรเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและจะรายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะต่อไป
(จำนวนผู้เข้าชม 4900 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน