วธ. จัดยิ่งใหญ่นิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนาน สายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก”
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” The Endless Epic of Japanese -Thai Ceramic Relationship in the World’s Trade and Culture โดยมีนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณอธิบดีกรมศิลปากร และ Dr. Ayako Yamamoto, Curator of the Kyushu Ceramic Museum ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ประเทศไทย โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมงานหัตถกรรมไทยจากวิถีพาณิชยวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ระดับประเทศและสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซรามิกหรือเครื่องปั้นดินเผา และฉลองวาระครบรอบ ๑๓๕ ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยนำโบราณวัตถุเครื่องเคลือบเซรามิกจากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น และเครื่องปั้นดินเผาของไทยจากหลากหลายแหล่ง มาจัดแสดงร่วมกัน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๑๔ กันยายน ถึงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เพื่อให้ชาวไทยได้รับความรู้ ความเข้าใจด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะของญี่ปุ่นโดยเฉพาะช่วงสมัยเอโดะ และสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวถึงรายละเอียดของการจัดนิทรรศการพิเศษในครั้งนี้ว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางวัฒนธรรม และได้มีการเตรียมการจัดทำนิทรรศการร่วมกันกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดซากะ และพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๑ ปัจจุบันสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดซากะ และพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ได้อนุญาตให้กรมศิลปากรนำโบราณวัตถุเครื่องเคลือบดินเผา (porcelain) สำคัญจากจุดกำเนิดที่เมืองอาริตะ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๘๒ รายการ ๙๗ ชิ้น มาจัดแสดงร่วมกับเครื่องปั้นดินเผาไทย จำนวน ๙๐ รายการ จากแหล่งโบราณคดี-ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย และได้รับความร่วมมือนำโบราณวัตถุมาร่วมจัดแสดงจาก วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้อำนวยการโรงเรียนถนอมบุตร และนายวราห์ โรจนวิภาต ซึ่งรังสรรค์พัฒนาสืบมาในประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบัน แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น ๖ หัวเรื่อง คือ
๑. น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง: เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
๒. วิวัฒนาการเซรามิกแห่งสองสายใย (ญี่ปุ่น-ไทย) ในโลกพาณิชยวัฒนธรรม
๓. ภูมิปัญญาชาวแหลมทองและชาวอาทิตย์อุทัย ในดิน-น้ำ-ลม-ไฟ: “ปั้นดินทราย ฉาบไล้ด้วยน้ำ นำผึ่งลม โหมฟืนไฟในเตาเผา” บอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นและไทย
๔. สูงสุดแห่งภูมิปัญญา: ภาพฉายาในพาณิชยวัฒนธรรมโลก สะท้อนเรื่องราวการค้า ศิลปะและวัฒนธรรมผ่านเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นและไทยที่ไปไกลยังต่างแดน
๕. แรงบันดาลใจไม่หยุดยั้งคือพลังสร้างสรรค์ใหม่ โดยสืบทอดวัฒนธรรมและพัฒนากระบวนการผลิตสู่ความคิดใหม่
๖. สำรับคาวหวาน อาหารญี่ปุ่น – ไทย ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมอาหารควบคู่กับภาชนะ ที่มีบทบาทสำคัญมาแต่อดีต
โบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาอาริตะชิ้นสำคัญจากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ที่นำมาจัดแสดง อาทิ เด็กชายจับปลาดุกด้วยน้ำเต้า ตกแต่งด้วยการเขียนสีบนเคลือบ พุทธศักราช ๒๒๑๓ – ๒๒๕๒ จานลายครามแบบคารากขนาดใหญ่เขียนลายนกฟินิกซ์และตราวีโอซี พุทธศักราช ๒๒๓๓ – ๒๒๖๒ ขวดทรงแปรงตีชาเขียนลายบนเคลือบ เป็นลายดอกโบตั๋น พุทธศักราช ๒๑๙๓ – ๒๒๐๓ สำหรับโบราณวัตถุของไทย ที่นำมาจัดแสดง อาทิ ชุดชามเบญจรงค์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ กระปุกสังคโลกสองหู พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๑ จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กุณฑีสังคโลก พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ ได้จากการขุดค้นที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. การบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) วันที่ ๑๔ – ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ กิจกรรมจากจังหวัดซากะ ได้แก่ เวิร์คช็อป (Workshop)
กิจกรรมลงสีเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ทดลองลงสีบนจานอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม ๒๐ ท่านต่อวัน ซึ่งจานที่ลงสีแล้วจะนําไปเผาอบให้สีอยู่ตัวก่อนจะมอบให้ผู้ร่วมกิจกรรมต่อไป กิจกรรมทําเครื่องประดับจากเศษกระเบื้องที่เกิดจากกระบวนการเผาเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม ๖๐ ท่านต่อวัน โดยสามารถเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมท่านละ ๑ ครั้งเท่านั้น และยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดกันมาของญี่ปุ่น การจัดแสดงและจําหน่ายของดีจังหวัดซากะอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. การบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) วันที่ ๑๔ – ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ กิจกรรมจากจังหวัดซากะ ได้แก่ เวิร์คช็อป (Workshop)
กิจกรรมลงสีเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ทดลองลงสีบนจานอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม ๒๐ ท่านต่อวัน ซึ่งจานที่ลงสีแล้วจะนําไปเผาอบให้สีอยู่ตัวก่อนจะมอบให้ผู้ร่วมกิจกรรมต่อไป กิจกรรมทําเครื่องประดับจากเศษกระเบื้องที่เกิดจากกระบวนการเผาเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิ ผู้ร่วมกิจกรรม ๖๐ ท่านต่อวัน โดยสามารถเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมท่านละ ๑ ครั้งเท่านั้น และยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดกันมาของญี่ปุ่น การจัดแสดงและจําหน่ายของดีจังหวัดซากะอีกด้วย
กิจกรรมเวิร์คช็อป (Workshop) จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้แก่ การขึ้นรูปชิ้นงานจาน ๓
ครั้งๆ ละ ๔ รอบ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ วันที่ ๙ และ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ และการเขียนสีใต้เคลือบ ๓ ครั้งๆ ละ ๔ รอบ ในวันที่ ๖ และ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ และ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผู้ร่วมกิจกรรมรอบละ ๓๐ ท่าน
นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ ๑๔ กันยายน ถึงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันพุธ – อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ – อังคาร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร finearts.go.th
(จำนวนผู้เข้าชม 4016 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน