รูปพระสุภูติมหาเถร สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

รูปพระสุภูติมหาเถร
สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔
เป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานมาแต่เดิม ได้มาจากไหนไม่ปรากฏ
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้อง ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
----------------------------------------------
  ประติมากรรมรูปบุคคล เงยศีรษะขึ้น ใบหน้ากลม คิ้วโก่ง ดวงตาเหลือบต่ำ จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา แสดงอาการยิ้มเล็กน้อย ใบหูยาว รูปร่างอ้วนครองจีวรแบบห่มดอง*แสดงการคาดผ้ารัดอก มีท้องพลุ้ย มือซ้ายโอบหน้าท้อง ส่วนมือขวายกขึ้น (กิริยากวักเรียกฝน) นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว รูปแบบดังกล่าวจึงทำให้ประติมากรรมพระสุภูติมีลักษณะบางประการคล้ายกับประติมากรรมพระมหากัจจายนเถระ 
  ประวัติของพระสุภูติปรากฏในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินีอรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน กล่าวถึงประวัติพระสุภูติว่า
  ครั้งหนึ่งพระสุภูติจาริกถึงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารได้อาราธนาให้พระสุภูติประทับอยู่ ณ เมืองราชคฤห์ พร้อมทั้งสัญญาว่าจะสร้างกุฏิถวายให้ แต่เนื่องจากทรงมีพระราชกิจหลายอย่าง ทำให้ทรงลืมข้อสัญญาดังกล่าว ครั้นถึงฤดูฝนปรากฏว่าฝนไม่ตก พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงระลึกขึ้นได้ว่าพระองค์ลืมสร้างกุฏิถวายพระสุภูติ ทรงมีรับสั่งให้สร้างกุฏิที่มุงหลังคาด้วยใบไม้ถวาย เมื่อพระสุภูติเข้าไปอาศัยด้านในแล้วฝนก็ยังตกเพียงเล็กน้อย พระสุภูติจึงกล่าวคาถามีใจความว่า ตนพ้นจากภยันตราย มีอาคารกำบังแล้ว ขอให้เทพเทวดาบันดาลให้ฝนตก เมื่อกล่าวคาถาจบลง เมฆฝนก็ก่อตัวขึ้น เกิดเป็นฝนห่าใหญ่ตกทั่วเมืองราชคฤห์ 
  จากประวัติของพระสุภูติข้างต้น จึงทำให้ประติมานของรูปเคารพพระสุภูติมีลักษณะการแสดงอิริยาบถที่สัมพันธ์กับ “เบื้องบน” หรือ “ท้องฟ้า” เช่น การแหงนหน้ามองด้านบน หรือชูแขนข้างหนึ่งขึ้นในท่ากวักมือเรียกเป็นต้น ในงานพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ พระสุภูติจึงเป็นประติมากรรมองค์สำคัญที่ใช้ประกอบพิธี 
  อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงมีพระบรมราชาธิบายถึงพระสุภูติในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ไว้ว่า การประดิษฐานพระสุภูติในพระราชพิธีจะตั้งไว้อยู่กลางแจ้ง ตรงกันข้ามกับคาถาที่ใช้สวดในพระราชพิธี คือ “คาถาสุภูโต” ที่มีเนื้อความตามสุภูติเถรคาถา ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงเรียบเรียงขึ้นใหม่ และใช้มาตลอดนับตั้งแต่รัชกาลของพระองค์ในคราวที่ฝนแล้ง ดังมีประกาศให้พระอารามต่าง ๆ สวดคาถาสุภูโต และงานพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องจัดกี่วัน ขึ้นอยู่กับว่าฝนจะตกหรือไม่ และตกมากน้อยเพียงใด หากฝนตกไม่มากก็ยังคงทำพิธีต่อไป อีกทั้งพระราชพิธีพิรุณศาสตร์มิได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากแต่จัดขึ้นในคราวที่เกิดภาวะแล้งขาดแคลนน้ำฝนเท่านั้น
 
* ห่มดอง หมายถึง วิธีห่มผ้าของพระภิกษุสามเณรอย่างหนึ่งโดยห่มเฉวียงบ่าและมีผ้ารัดอก (ตามความหมายใน ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖ หน้า ๑๓๑๙)
----------------------------------------------
อ้างอิง :
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธี ๑๒ เดือน. พระนคร: แพร่พิทยา, ๒๕๑๔.
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ (กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๔๘.
. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๔๘.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๘ ภาคที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรง พิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
 
---------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล :  นายพนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 3157 ครั้ง)

Messenger