พระพิมพ์ลีลา
พระพิมพ์ลีลา
สมัยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ (ประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว)
ได้จากกรุที่มุมกำแพงแก้ว วิหารพระอัฏฐารส โบราณสถานวัดสะพานหิน เมืองเก่าสุโขทัย
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพิมพ์ดินเผารูปทรงคล้ายใบหอก กดประทับรูปพระพุทธเจ้า ตามแบบศิลปะสุโขทัย มีพุทธลักษณะสำคัญคือ พระรัศมีเป็นเปลวแหลม พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระอังสากว้าง ครองจีวรห่มเฉียง พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นแสดงอภัยมุทรา (ปางประทานอภัย) พระกรขวาแนบพระวรกาย พระบาทขวายกขึ้นแสดงอิริยาบถลีลาบนฐานเขียง
พระพุทธรูปลีลา เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานศิลปกรรมสุโขทัย และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ปรากฏทั้งงานประติมากรรมปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม งานประติมากรรมสัมฤทธิ์ และพระพิมพ์ โดยสัมพันธ์กับเรื่องราวทางพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา อีกทั้งรูปแบบของพระพุทธรูปลีลายังปรากฏในฐานะอดีตพุทธเจ้า เช่น ลวดลายบนรอยพระพุทธบาทสัมฤทธิ์วัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๐* หรือรูปพระสาวกที่ฐานเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัยก็แสดงอิริยาบถลีลาด้วยเช่นกัน
สำหรับแรงบันดาลใจของการสร้างพระพุทธรูปลีลานั้น น่าจะได้รับอิทธิพลงานศิลปะลังกา มีตัวอย่างคือจิตรกรรมฝาผนัง วิหารติวังกะ (Tivanka Pilimage) สมัยโปลนนารุวะ (ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘) นอกจากนี้การสร้างพระพุทธรูปลีลายังปรากฏในบ้านเมืองต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับสุโขทัย อาทิ พระพุทธรูปลีลาบนแผ่นทองจังโก พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และพระพุทธรูปลีลา ณ วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดพญาภู จังหวัดน่าน
*ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย: บทวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 880 ครั้ง)