เชี่ยนหมากมลายู
เชี่ยนหมากมลายู
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เชี่ยนหมากทองเหลือง ประกอบไปด้วย กระบะหรือตัวเชี่ยน ลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งเป็นสองตอน ตอนบนจำหลักลายดอกไม้แปดกลีบ ลายเชือกทาบและลายพันธุ์พฤกษา ตอนล่างจำหลักลายเครือพันธุ์พฤกษา ด้านในบรรจุภาชนะการกินหมากประกอบไปด้วย ซองพลูจำหลักลายพันธุ์พฤกษา ตลับกลมมีฝาปิดทรงมังคุด ผอบ และเต้าปูนจำหลักลาย
การเคี้ยวหมากเป็นวัฒนธรรมร่วมของสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในภาคพื้นทวีป และหมู่เกาะ เฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยพบว่าเชี่ยนหมากในแต่ละภาคจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป สำหรับทางภาคใต้ของประเทศไทยเชี่ยนหมากที่เป็นเครื่องโลหะนิยมทำลักษณะเป็นกระบะทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รวมทั้งเชี่ยนหมากบางชิ้นยังทำขึ้นด้วยวิธีสานย่านลิเพา หรือสานด้วยต้นกระจูด ที่เรียกว่า “สอบหมาก”
เครื่องเชี่ยนประเภทเครื่องเงินและเครื่องทองเหลืองที่พบในภาคใต้ พบว่ามีลวดลายทั้งแบบศิลปะจีน ญวน เขมร และมลายู
สำหรับในพื้นที่คาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะ โดยเฉพาะในเขตประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นแหล่งที่มีต้นหมากและพลูหลากหลายสายพันธุ์มากที่สุด นักสำรวจชาวอิตาเลียน Antonio Pigafetta (หนึ่งในสมาชิกของ Ferdinand Magellan) เดินทางมาถึงหมู่เกาะในฟิลิปปินส์เมื่อ ค.ศ. ๑๕๒๑ (พ.ศ. ๒๐๖๔) ได้บันทึกไว้ว่า “...ผู้คนที่นั่นเคี้ยวหมากด้วยความเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้หัวใจ หากงดเว้นพวกเขาอาจตายได้...” นอกจากนี้เอกสารในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิ เอกสารกระดาษเพลา* เรื่อง คําให้การนายรัก จ.ศ. ๑๒๐๑ (พ.ศ. ๒๓๘๒) ยังกล่าวว่าตามหัวเมืองมลายูหมากเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนทางการค้า เช่น การแลกเปลี่ยนข้าวสารจากชาวจีน กับหมากของคนพื้นถิ่นเมืองกลันตัน ดังความว่า
“...เรือที่เข้าไปในคลองนั้นขายข้าวให้แก่ชาวเมืองกลันตันเกวียนละ ๒๐ เหรียญบ้าง ๒๕ เหรียญบ้าง แลกหมากกันบ้าง...”
รวมทั้งยังเป็นของต้อนรับแขกเมืองดังปรากฏในเอกสารสมุดไทยดำเรื่อง สำเนาคําให้การจีนกั๊ก เล่ม ๒ เรื่องบรรทุก สินค้าไปจำหน่ายเมืองบาหลีจ.ศ. ๑๒๐๘ (พ.ศ. ๒๓๘๙) ความตอนหนึ่งกล่าวว่าปลัดเมืองนำสำรับหมากมาต้อนรับจีนกั๊กเมื่อครั้งที่ตนเดินทางไปยังเกาะบาหลี ดังความว่า
“...ปลัดเมืองจึงให้คนยกโต๊ะไม้กลึงมาโต๊ะ ๑ ใส่ทุเรียน มังคุด ส้มเปลือกบาง น้อยหน่า กล้วยสั้นบ้าง ออกมาให้ข้าพเจ้ารับประทาน แล้วเอาหมากพลูใส่หีบทองเหลือง เครื่องในตลับซองพลูทำด้วยเงิน พลูนั้นจีบเหมือนไทยจีบ ๆ ๑ ช้อน ๓ ใบผูกด้วยด้าย กินปูนขาว ข้าพเจ้ารับประทานแล้ว กะปิตันกับปลัดเมือง บ่าวประมาณ ๔ คน ๕ คน พาข้าพเจ้าไปหาเจ้าเมืองรอง...”
*กระดาษเพลา หมายถึง กระดาษสาชนิดบาง โบราณใช้ร่างหนังสือด้วยดินสอดำหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้ปิดหุ่นหัวโขนและหุ่นอื่น ๆ
อ้างอิง
กาญจนา โอษฐยิ้มพราย และอลงกรณ์ จันทร์สุข. กินอยู่อย่างไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, ๒๕๕๒.
"เครื่องเชี่ยน." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒: ๑๑๐๖-๑๑๐๗.
ธนโชติ เกียรติณภัทร. การศึกษาวิเคราะห์คําให้การสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาวิชาจารึกศึกษา) กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๘.
Rooney, D. F. Betel Chewing Tradition in South-East Asia. Kuala Lumpur: Oxford University Press, ๑๙๙๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 852 ครั้ง)