กล่องพระสุพรรณบัฏ
กล่องพระสุพรรณบัฏ
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
พระโอรสและธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ๕ องค์ ประทานยืม
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นบน) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กล่องพระสุพรรณบัฏทรงโกศ ทำจากงาช้าง ลักษณะตัวกล่องเป็นงาช้างกลึงทรงกระบอก ด้านล่างตกแต่งด้วยลวดบัวลูกแก้ว ส่วนฝากลึงเป็นบัวฝาละมี และมีลวดบัวในผังกลมซ้อนลดหลั่นกันไป ประดับยอดบัว ๕ ยอด มีร่องรอยการปิดทอง กล่องพระสุพรรณบัฏแต่เดิมจัดอยู่ ณ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ตั้งแต่เมื่อครั้งเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ดังปรากฏคำอธิบายโบราณวัตถุในพระที่นั่งพรหมเมศธาดาความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...เครื่องงา ในเรื่องงานี้มีสิ่งสำคัญคือ กล่องพระสุพรรณบัฏสมเด็จพระสังฆราชอยู่ใบ ๑...” อย่างไรก็ตามกล่องพระสุพรรณบัฏชิ้นนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นของสมเด็จพระสังฆราชองค์ใด
“พระสุพรรณบัฏ” หมายถึง แผ่นทองคํารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึกพระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นเครื่องยศชั้นสูง ในกรณีของ พระภิกษุที่ได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” จะเรียกว่า “สุพรรณบัฏ” ซึ่งน้ำหนักทองของสุพรรณบัฏแตกต่างกันตามระดับสมณศักดิ์ เช่น สุพรรณบัฏชั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าที่ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาขึ้นทรงกรม น้ำหนักทองจำนวน ๑๒ บาท ในขณะที่สุพรรณบัฏชั้นสมเด็จพระราชาคณะ มีน้ำหนักทองจำนวน ๔ บาท เป็นต้น
รูปทรงของกล่องพระสุพรรณบัฏนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานความเห็นว่า น่าจะเป็นต้นแบบให้กับการสร้างโกศบรรจุอัฐิด้วยเช่นกัน ดังลายพระหัตถ์ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๘ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...เห็นได้ว่าโกศกระดูกนั้นเปนของสามัญซึ่งมีมาก่อน โกศศพเอาอย่างไปทำทีหลังเปนของพิเศษ เมื่อเปนดังนั้น โกศกระดูกจะมาแต่สิ่งใดเล่าโดยพิจารณาเห็นมีสัณฐานผอมสูงใกล้ไปทางกล่องของโบราณ เช่นกล่องพระราชสาสน์ กล่องพระสุพรรณบัตร กล่องดวงใจที่เขาเขียนในเรื่องรามเกียรติ ตลอดจนกล่องเข็มที่กลึงไม้ใช้บวชนาคกันมาแต่ก่อน ย่อมเปนรูปเดียวกัน...”
อ้างอิง
ราชบัณฑิตยสภา. อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๙.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.
องค์การค้าของคุรุสภา. สาสน์สมเด็จเล่ม ๖ ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: คุรุสภา, ๒๕๐๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 679 ครั้ง)