ภาชนะรูปหมูป่า (เต้าปูน)
ภาชนะรูปหมูป่า (เต้าปูน)
ภาชนะจากแหล่งเตาพนมดงเร็ก จังหวัดบุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
นายโยธิน-นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ มอบให้เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาล รูปหมูป่ายืน ลักษณะลำตัวอ้วน หูสั้น จมูกยื่น ที่มุมปากมีเขี้ยวขนาดเล็ก ปรากฏร่องรอยการทาน้ำเคลือบสีน้ำตาล (brown-glazed) เฉพาะส่วนใบหน้ากับลำตัว บริเวณส่วนคอและลำตัวตกแต่งด้วยลายขูดขีดคล้ายลายเชือกทาบ ส่วนหลังหมูป่าเจาะเป็นช่องสำหรับบรรจุของไว้ภายใน สันนิษฐานว่าใช้สำหรับบรรจุปูนขาว
แรงบันดาลใจการทำภาชนะรูปหมูป่านั้น นอกจากหมูป่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่และพบได้ทั่วไป หมูป่ายังเป็นสัตว์สัญลักษณ์ตามคติทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ กล่าวคือ ในศาสนาพราหมณ์ หมูป่าเกี่ยวข้องกับพระนารายณ์โดยตรงกล่าวคือในการอวตารครั้งที่สาม (วราหาวตาร) เพื่อปราบยักษ์หิรัญ ส่วนในทางพุทธศาสนามหายาน หมูป่ายังเป็นสัญลักษณ์แทน “โมหะ” คือ ความเขลา ความดื้อดึง ทั้งนี้ศิลปกรรมวัฒนธรรมเขมรในประเทศไทยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ พบภาพสลักหมูป่าด้วยเช่นกัน อาทิ ทับหลังกรอบประตูทางทิศเหนือปรางค์หินแดง (ในระเบียงคดของปราสาทพิมาย) จังหวัดนครราชสีมา และทับหลังปราสาทศีรขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ภาชนะรูปสัตว์ (zoomorphic pot) เป็นหนึ่งในรูปแบบของภาชนะที่ผลิตขึ้นจากแหล่งเตาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่ามีกลุ่มเตาเผามากกว่า ๔๐ แห่ง พบในเขตพื้นที่อำเภอบ้านกรวด อำเภอกระสัง อำเภอละหานทราย อำเภอลำปลายมาศ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอหนองกี่ และอำเภอสะตึก บางกลุ่มมีเตาเผา ๒-๓ เตา ซึ่งภาชนะรูปสัตว์นั้นทำขึ้นโดยเลียนแบบจากสัตว์ในธรรมชาติ อาทิ กบ กระต่าย ช้าง แมว กวาง จระเข้ เป็ด ปลา เต่า สุนัข ลิงและนกฮูก โดยปรับรูปร่างของสัตว์ให้เข้ากับลักษณะของภาชนะคือ ส่วนลำตัวพอง เจาะช่องที่ด้านบน แม้ว่าบางชิ้นจะแสดงถึงสัตว์ในนิยาย เช่น กินรี (ลักษณะเป็นภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาล มีรูปทรงส่วนศีรษะและอกเหมือนมนุษย์ ในขณะที่ปีกและเท้าเหมือนนก) หรือบางชิ้นทำขึ้นตามรูปแบบของเทวรูปในศาสนาพรามหณ์ เช่น พระพิฆเนศ พระศิวะ เป็นต้น
ส่วนน้ำเคลือบสีน้ำตาลที่ปรากฏบนภาชนะของแหล่งเตาพนมดงเร็กนั้น มีข้อสันนิษฐานว่า น้ำเคลือบน่าจะมีการผสมขี้เถ้าจากพืช* กับสนิมหรือออกไซต์ของแร่เหล็กเข้าด้วยกัน เมื่อทาน้ำเคลือบลงบนผิวภาชนะแล้วนำไปเข้าเตาเผา จะปรากฏสีน้ำเคลือบเป็นสีน้ำตาล
*มาจากต้นไม้รกฟ้า ลักษณะไม้ยืนต้นผลัดใบ เปลือกไม้มีลักษณะขรุขระสีเทาดำ เป็นต้นไม้ที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่แหล่งเตาพนมดงเร็ก
อ้างอิง
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. พัฒนาการเครื่องถ้วยเขมรสมัยเมืองพระนคร. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต(สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
Dawn F. Rooney. Khmer Ceramics Beauty and Meaning. Bangkok: Riverbook, 2010.
(จำนวนผู้เข้าชม 584 ครั้ง)