เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
กระเบื้องเชิงชาย ลายเทพนม เมืองกำแพงเพชร
กระเบื้องเชิงชายหรือที่เรียกว่ากระเบื้องหน้าอุด คือกระเบื้องมุงหลังคาแถวล่างสุดของหลังคาแต่ละตับ ส่วนใหญ่ทำเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ทำหน้าที่กันฝน และสัตว์เข้าไปตามแนวกระเบื้อง
เทพนม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ หมายถึง ชื่อภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือ ซึ่งลายเทพนมบนกระเบื้องเชิงชายนั้นมักพบในลักษณะโครงสร้างรูปสามเหลี่ยม หันพระพักตร์ตรง ประนมพระหัตถ์เสมอพระอุระ นอกจากนี้ยังพบลายเทพนมในงานศิลปกรรมอื่น เช่น
- งานจิตรกรรม ทำลายเทพนมในพุ่มข้าวบิณฑ์บริเวณหน้าต่างอุโบสถ วัดดวงแข กรุงเทพฯ
- งานประดับสถาปัตยกรรม พบบริเวณหน้าบัน บันแถลง ประตู หน้าต่างของโบราณสถาน เช่น ลายปูนปั้นรูปเทพนมประดับปรางค์วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก
- เสมาหินชนวนสลักลายพันธุ์พฤกษาและเทพนม พบที่วัดพระนอน จังหวัดกำแพงเพชร
- ลายเทพนมบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์
การนำกระเบื้องเชิงชายลายเทพนมมาประดับหลังคาเหนือที่ประดิษฐานรูปพระพุทธเจ้านั้น สันนิษฐานว่าเป็นการแสดงการสักการะพระพุทธเจ้าของเหล่าเทพ หรือเป็นการสื่อถึงเทพประทับในวิมาน โดยแผ่นกระเบื้องเชิงชายเปรียบเสมือนซุ้มวิมานขององค์เทพ หรืออาจเป็นความหมายทางบุคลาธิษฐานในการเปรียบเทียบมนุษย์กับบัวสี่เหล่าของพระพุทธองค์ อันเป็นการแทนภาพของผู้ที่บรรลุโพธิญาณขั้นต้นที่หลุดพ้นจากโคลนตมใต้พื้นน้ำ
จากการศึกษากระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยาประเภทลายเทพนม ของ นายประทีป เพ็งตะโก สันนิษฐานว่า กระเบื้องเชิงชายลายเทพนมนั้นปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นตลอดจนถึงอยุธยาตอนปลาย ลักษณะสำคัญคือ เทพนมอยู่เหนือดอกบัวในลักษณะผุด หรือถือกำเนิดจากดอกบัว ในระยะแรกสันนิษฐานว่ามีการทำรูปดอกบัวใต้รูปเทพนมมีก้านมารองรับ จากการพบลวดลายปูนปั้นลักษณะคล้ายคลึงกันประดับปรางค์วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก ส่วนรูปดอกบัวรองรับรูปเทพนมลักษณะแบบไม่มีก้านนั้น เริ่มจากดอกตูม แล้วคลี่คลายมาเป็นดอกบาน รวมถึงมงกุฎแบบมีปุ่มแหลมเหนือกรอบกระบังหน้านิยมทำร่วมกันในสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนกลีบบัวที่กลายเป็นลายพันธุ์พฤกษาอยู่ในราวสมัยอยุธยาตอนกลางและปรับเปลี่ยนเป็นลายกระหนกในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยลายกระหนกใต้เทพนมนั้นมักทำเป็นกระหนกสามตัวสะบัดพลิ้ว หรือทำลายอย่างอื่นแทนที่รูปดอกบัว ส่วนลักษณะมงกุฎแบบทรงเครื่องใหญ่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓
การกำหนดอายุโดยวิธีการเปรียบเทียบ (Relative Dating) สันนิษฐานว่าลวดลายในกระเบื้องเชิงชายที่พบจากการขุดแต่งวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชรนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระเบื้องเชิงชายที่พบในโบราณสถานของเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงภาพเปรียบเทียบลายกระเบื้องเชิงชายจากการศึกษาของ นายประทีป เพ็งตะโก ได้แก่
กระเบื้องเชิงชายลายเทพนม (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒) ลักษณะทรงสามเหลี่ยมมีหยักที่ขอบนอก ปรากฏรูปเทพนมอยู่เหนือดอกบัว ทำเส้นนูนล้อกับทรงกระเบื้องล้อมรอบเทพนมจำนวนสองเส้น มงกุฎมีการซ้อนชั้นอย่างเรียบ ปลายแหลมสูง สวมกระบังหน้า ดอกบัวรองรับเทพนมไม่มีก้าน กลีบดอกบัวมีลักษณะเรียว และเริ่มมีลักษณะเปลี่ยนเป็นลายกนกบริเวณส่วนปลายกลีบ จากการขุดแต่งวัดช้างรอบ พบกระเบื้องเชิงชายลายเทพนมลักษณะคล้ายกับที่พบจากการขุดแต่งวัดธรรมมิกราช วัดพลับพลาชัย และวัดสุวรรณาวาส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
_________________________________________________
ที่มาของข้อมูล :
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
---------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำศัพทานุกรมด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๐. ประทีป เพ็งตะโก. กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๐. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และคณะ. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : บริษัท โอสถสภาจำกัด, ๒๕๓๙. วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 1890 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน