เรื่อง “ข้าว” อาหารอันดีที่สุดของชาวสยาม
เนื่องในวันพืชมงคลอันเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพืชประจำชาติ คือ “ข้าว” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ขอนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับข้าวในสมัยอยุธยาตอนปลาย เรื่อง “ข้าว” อาหารอันดีที่สุดของชาวสยาม
.......................................................
“ข้าว” อาหารอันดีที่สุดของชาวสยาม
.......................................................
“ข้าว เป็นพืชผลเก็บเกี่ยวทางเกษตรอันสำคัญของชาวสยามและเป็นอาหารอันดีที่สุดของพวกเขา” ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ กล่าวถึง “ข้าว” ในครั้งที่ได้เดินทางมาเยือนสยามเมื่อ พ.ศ. 2230 ในฐานะราชทูตฝรั่งเศสครั้งรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
......................................................................
#ข้าว ในสมัยอยุธยามิใช่เพียงเป็นพืชพรรณสำคัญที่ใช้ในการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในการเป็นตัวแทนที่สามารถสะท้อนภาพของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ และยังถือว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับข้าวนับเป็นลางบอกเหตุทั้งดีและร้าย โดยมีการนำเรื่องของข้าวไปบันทึกลงในพระราชพงศาวดาร ตัวอย่างเช่น
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ : “...สักราช 805 ปีกุน เบญจสก เข้าเปลือกแพง เปนทนานละ 800 เบี้ย ... เกวียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งกับสิบบาท...”
สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 : “...สักราช 867 ปีฉลูสัปตสก น้ำน้อยข้าวตายฝอยมากสิ้น...” และ “...สักราช 868 ปีขานอัถสก ข้าวแพงเปนสามทนานต่อเฟื้อง เบี้ยแปดร้อยต่อเฟื้อง เกวียนหนึ่งเปนเงินชั่งหนึ่งกับเก้าบาทสลึง...”
นอกจากด้านเศรษฐกิจที่ข้าวถูกกล่าวถึงเพื่อบรรยายสภาพคล่องทางเศรษฐกิจของบ้านเมือง ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับ “ข้าว” ยังถือเป็นลางบอกเหตุของบ้านเมือง เรียกได้ว่าเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นกับข้าวนับเป็นความอัปมงคลของบ้านเมือง ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารความว่า “...สักราช 832 ปีขานโทสก เกิดอุบาทเปนหลายประการ โคตกลูกตัวหนึ่งเปนแปดเท้า ไข่ฟักฟองตกลูกตัวหนึ่งเปนสี่เท้า ไก่ฟักฟองคู่ขอนตกลูกเป็นหกตัว อนึ่งข้าวสารงอกเปนไบขึ้นในปีนั้น...”
นอกจากที่ได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับข้าวที่ปรากฏเรื่องราวในพระราชพงศาวดารแล้ว ข้อความในบันทึกของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของข้าวในสมัยอยุธยาตอนปลายไว้อย่างเป็นรูปธรรม
ชาวสยามในสมัยนั้นปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ โดยมีทั้งข้าวเจ้า และข้าวสาลี ทั้งยังรู้จักและช่ำชองในวิธีการที่จะกะปริมานน้ำ กะความแก่อ่อนของไฟ และกะเวลาในการหุงข้าวให้สุกโดยเม็ดไม่แตกแยะ นอกจากการหุงข้าวด้วยน้ำบริสุทธิ์ชาวสยามยังรู้จักการหุงข้าวด้วยน้ำกะทิด้วย สำหรับข้าวสาลีนั้นเป็นพันธุ์ข้าวที่นำเข้ามาโดยแขกมัวร์และถูกปลูกภายในไร่ของพระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) เท่านั้น ไม่ใช่ข้าวที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมปลูก ข้าวสาลีจะถูกนำไปแปรรูปเป็นแป้งที่โรงสีลม โดยสันนิษฐานว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยาโรงหนึ่ง และอีกโรงระบุว่าอยู่ใกล้เมืองละโว้ หลังจากแปรรูปเป็นแป้งสาลี ชาวสยามก็นำแป้งดังกล่าวมาผลิตเป็นขนมปังสด
นอกจากชาวสยามจะกิน “ข้าว” เป็นอาหารหลักแล้ว ยังนำข้าวไปทำเป็นเครื่องดื่มคือเหล้าอีกด้วย โดย ลาลูแบร์ บันทึกไว้ว่า ชาวสยามทำเหล้าบรั่นดีจากข้าว โดยการหมักไว้ด้วยน้ำปูนใส เหล้าที่ทำด้วยข้าวขั้นแรกทำเป็น เมรัย (bière หรือ beer) ก่อน แล้วกลั่นออกมาเป็น บรั่นดี ซึ่งพวกเขา (ชาวสยาม) เรียกว่า เหล้า นอกจากนำเมรัยมากลั่นเป็นเหล้าแล้ว บางส่วนยังมีการนำไปใช้ทำเป็นน้ำส้มสายชูด้วย
ข้าวโดยชาวสยามยังเป็นที่รู้จักและมีรสชาติที่ดี จนท่านราชทูต ลา ลูแบร์ ต้องบันทึกไว้ว่า “…ลูกเรือกำปั่นของเราแสดงความรู้สึกเสียดาย หลังจากได้บริโภคข้าวสุกมากกว่าสามเดือนแล้วต้องกลับไปกินขนมปังแห้ง...” เรียกได้ว่าข้าวของชาวสยามในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นที่ถูกปากชาวตะวันตกไม่น้อยเลยทีเดียว
ด้วยความสำคัญของข้าวที่เป็นตัวแทนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เป็นอาหารหลักที่เลี้ยงปากท้องของชาวสยาม ทั้งยังถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ใช้เป็นลางบอกเหตุเภทภัยที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง จึงต้องมีการทำนุ บำรุงและรักษาข้าวอย่างดี ทั้งเพื่อเป็นหลักประกันความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกิน ว่าราษฎรจะมี “อาหารอันดีที่สุด” ไว้กินตลอดปี ยังเป็นการป้องกันมิให้เกิดลางร้ายไปในตัว การทำนาเพื่อปลูกข้าวจึงถือเป็นสิ่งสำคัญจนนำไปสู่การประกอบพิธีอันเกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว อย่างพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อพืชพรรณธัญญาหารที่จะถูกหว่านไถในฤดูน้ำ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎร ดังปรากฏเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
………………………………………………..
เอกสารอ้างอิง
ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ. พระราชพงสาวดารกรุงสรีอยุธยา ฉบับความสมเด็ดกรมพระปรมานุชิตชิโนรส. กรุงเทพ: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2485. เข้าถึงได้จาก: https://archive.org/details/aekamarins_gmail_1/1%20พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา/mode/2up
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุลา ลูแลร์. สันต์ ท. โกมลบุตร (ผู้แปล). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2557.
ที่มาภาพ
………………………………………………..
เรียบเรียงโดย นางสาววสุนธรา ยืนยง นักวิชาการวัฒนธรรม
(จำนวนผู้เข้าชม 2492 ครั้ง)