พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ชวนชมโบราณวัตถุ ๑๐ ชิ้นห้ามพลาด พร้อมเปิดพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ ในงาน “ใต้ร่มพระบารมี ๒๔๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์”

          กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรเปิดให้เที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยามค่ำคืน ในงาน “ใต้ร่มพระบารมี ๒๔๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์” สัมผัสความงดงามของโบราณสถาน (วังหน้า) ที่ประทับของ พระมหาอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชมการจัดแสดงนิทรรศการ รวมถึงโบราณวัตถุ ๑๐ ชิ้นห้ามพลาดภายในพระที่นั่ง และอาคารจัดแสดงต่าง ๆ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ ตั้งแต่ ๑๖.๐๐ – ๒๐.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ พระนคร
          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยและ ยังเป็นสถานที่ต้อนรับอาคันตุกะระดับชาติของประเทศไทย จึงเป็นแหล่งรวบรวมมรดกวัฒนธรรมของชาติไว้เป็นจำนวนมาก เป็นการยากที่จะบอกว่า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นไหนเป็นชิ้นเอกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องจากทุกชิ้นล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุแนะนำ ๑๐ รายการ ที่เมื่อไปเยือนแล้วไม่ควรพลาดเข้าชม ประกอบด้วย
          ๑. พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัย – ล้านนา หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง อายุราว พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จัดแสดง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ จึงได้อัญเชิญออกไปให้ประชาชนสรงน้ำขอพรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งภายหลังกรมศิลปากรได้ขอพระบรมราชานุญาตหล่อองค์จำลองสำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
          ๒. พระคเณศ พระคเณศ ๔ กร จากจันทิสิงหส่าหรี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ศิลปะชวา ตะวันออก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ จัดแสดง ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท
          ๓. พระปัทมปาณีโพธิสัตว์ พระปัทมปาณีโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ กร ศิลปะ ศรีวิชัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ จัดแสดงห้อง ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท
          ๔. ตะเกียงโรมัน ขุดพบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี จัดแสดง ณ ห้อง เอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท
          ๕. พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หรือที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อศิลาขาว” ศิลปะทวารวดี พุทธ ศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ จัดแสดง ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
          ๖. พระหายโศก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา ประทับขัดสมาธิเพชร นาม “หายโศก” สะท้อนถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อพระพุทธรูปล้านนาที่มักตั้งตามคติความเชื่อด้านพระพุทธคุณในเชิงขจัดปัดเป่า เคราะห์ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจนำความทุกข์โศกมาสู่ผู้กราบไหว้บูชา จัดแสดง ณ ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
          ๗. ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) องค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
          ๘. พระอิศวร พระอิศวรสำริด สมัยสุโขทัย อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐จัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
          ๙. พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๓๓๘ จัดแสดง ณ โรงราชรถ
          ๑๐. พระที่นั่งบุษบกเกริน หรือบุษบกราชบัลลังก์ จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
          ทั้งนี้ ในงาน “ใต้ร่มพระบารมี ๒๔๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดกิจกรรมนำชมเป็นรอบสำหรับชาวไทย จำนวน ๓ รอบต่อวัน ได้แก่ รอบ ๑๘.๐๐ น. รอบ ๑๘.๓๐ น. และรอบ ๑๙.๐๐ น. ชาวต่างชาติ จำนวน ๑ รอบ ในเวลา ๑๗.๓๐ น. ลงทะเบียน ณ บริเวณศาลาลงสรง (ด้านหน้าทางเข้า) ตั้งแต่เวลา ๑๖.๓๐ น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องแสดงผลการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 อย่างน้อย ๒ เข็ม หากไม่มีผลการรับวัคซีนต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK หรือ RT - PCR ไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ และ ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓

(จำนวนผู้เข้าชม 1040 ครั้ง)

Messenger