มกร : สัตว์ผสมในจินตนาการสู่เครื่องประดับสถาปัตยกรรม
           สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยหลายแห่ง เช่น เจดีย์หรืออาคารต่าง ๆ มักมีการประดับประดาด้วยประติมากรรมมากมาย หนึ่งในนั้นคือประติมากรรมรูป มกร สัตว์ผสมที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย ก่อนจะเผยแพร่ไปยังลังกาและดินแดนอุษาคเนย์ ดังพบงานศิลปกรรมรูปมกรตามพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เป็นต้น
          ในดินแดนประเทศไทย มีการค้นพบประติมากรรมรูปมกรในหลายวัฒนธรรม เช่น ทวารวดี ลพบุรี หริภุญไชย ล้านนา รวมถึงสุโขทัย การสร้างมกรในสมัยสุโขทัยปรากฏพบในงานปูนปั้นประดับศาสนสถาน ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะเขมร มีลักษณะเป็นมกรคายนาคประดับอยู่บริเวณปลายกรอบหน้าบัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นมกรสังคโลกซึ่งสร้างเลียนแบบมาจากงานปูนปั้น และปรับเปลี่ยนกลายเป็นมกรที่มีการผสมผสานระหว่างอิทธิพลศิลปะจีนและศิลปะเขมรในที่สุด โดยมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดปะปนกัน เช่น มีเขาเหมือน กวาง มีงวงเหมือนช้าง มีปากเหมือนสิงห์ มีเคราเหมือนแพะ มีขาเหมือนจระเข้ และลำตัวมีเกล็ดเหมือนปลา
          นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าประติมากรรมรูปมกรเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ประดับสถาปัตยกรรม ตามแนวคิดและความเชื่อหลายประการที่เข้ามาพร้อมกับคติการสร้างมกร อาทิ การเป็นสัญลักษณ์แทนน้ำ ซึ่งในความเชื่อของคนโบราณเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ การทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ดูแลศาสนสถาน รวมไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับหลักธรรมซึ่งเปรียบมกรเป็นวิชชาและนาคเป็นอวิชชา เมื่อมกรกลืนกินนาคจึงหมายถึงการนำวิชชาไปครอบอวิชชานั่นเอง
          มกร จึงถือเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงความชาญฉลาดของคนสมัยสุโขทัยที่รับเอาคติความเชื่อและอิทธิพลทางศิลปะจากดินแดนต่าง ๆ แล้วนำมาผสมผสานจนเกิดเป็นงานศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่ยังหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลัง


---------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
---------------------------------------------------------------
อ้างอิง
โชติกา นุ่นชู. มกรคายนาค พุทธศิลป์แห่งดินแดนล้านนาไทย [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔. เข้าถึงได้จาก silpa-mag.com/culture/article_35141 เพ็ญสุภา สุขคตะ. นาค มกร กิเลน ปัญจรูป วิวัฒนาการของศิลปะทวารวดี ขอม ลังกา พุกาม จีนในล้านนา (1) [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔. เข้าถึงได้จาก matichonweekly.com/column/article_371989 _______. นาค มกร กิเลน ปัญจรูป วิวัฒนาการของศิลปะทวารวดี ขอม ลังกา พุกาม จีนในล้านนา (2) [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔. เข้าถึงได้จาก matichonweekly.com/column/article_374305

(จำนวนผู้เข้าชม 3525 ครั้ง)