พิมาย จากศูนย์กลางพุทธมหายานสู่เจ้าชุมนุมรัฐอิสระ
          พิมาย เป็นดินแดนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา บริเวณเมืองพิมายในอดีตสันนิษฐานว่าครอบคลุมพื้นที่อำเภอต่างๆ ในปัจจุบันคือ อำเภอพิมาย อำเภอชุมพวง อำเภอห้วยแถลง อำเภอเมืองยาง อำเภอลำทะเมนชัย บางส่วนของอำเภอประทาย บางส่วนอำเภอโนนแดง บางส่วนอำเภอโนนสูง และบางส่วนอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
          เมืองพิมาย ปรากฏร่องรอยของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีพัฒนาการมาตามลำดับ จนเจริญสูงสุดในสมัยวัฒนธรรมเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ มีการขยายเมือง วางผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีศาสนสถานอยู่กลางเมือง มีบารายนอกเมืองตามแบบเมืองในวัฒนธรรมเขมรทั่วไป และปรากฏชื่อ “วิมาย”ซึ่งเชื่อว่าเป็นคำเดียวกับพิมายอย่างชัดเจนในช่วงเวลานี้ ในจารึกที่พบที่พิมายและที่พบในประเทศกัมพูชา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิมายและอาณาจักรเขมร ซึ่งมีหลักฐานต่อเนื่องมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งเป็นร่องรอยของอารยธรรมเขมรช่วงสุดท้ายที่ปรากฏที่เมืองพิมาย
          เมื่ออาณาจักอยุธยาสถาปนาขึ้นในบริเวณภาคกลางเมืองพ.ศ. ๑๘๙๓ อำนาจทางการเมืองของอยุธยายังไม่เข้าครอบคลุมดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสันนิษฐานว่ายังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมรอยู่ แม้ว่าจำนวนประชากรจะเบาบางลงและอาณาจักรเขมรเสื่อมอำนาจลงมากแล้วก็ตาม การที่เมืองพิมาย เคยเป็นเมืองสำคัญระดับศูนย์กลางอำนาจในภูมิภาคแถบนี้มาก่อน จึงมีความสัมพันธ์ทั้งทางด้านการเมืองและเครือญาติกับบรรดาหัวเมืองของเขมรในภาคอีสานและศูนย์กลางที่เมืองพระนคร โดยยังคงความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ และเศรษฐกิจ เมื่ออยุธยาพยายามขยายอำนาจมาทางตะวันออก จะต้องเข้าควบคุมดินแดนในบริเวณต้นแม่น้ำมูลก่อน ถึงแม้ว่าอยุธยาจะสามารถทำลายศูนย์กลางอำนาจของเขมรได้สำเร็จและได้ดินแดนบางส่วนมาอยู่ในความควบคุม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมดินแดนแถบนี้ได้อย่างเรียบร้อย เนื่องจากอยู่ไกลและการคมนาคมไม่สะดวก และหัวเมืองเขมรในอีสานก็อาจจะเข้ามากับเขมรเมื่อต้องทำศึกกับอยุธยา
          ด้วยเหตุนี้ ทำให้ราชสำนักอยุธยาต้องเข้ามามีบทบาทส่งเสริมสถานภาพของเมืองใหม่เพื่อควบคุมสถานการณ์ และเป็นตัวแทนของราชสำนักในบริเวณนี้แทนที่เมืองพิมาย นอกจากจะเป็นการตัดกำลังของเขมรแล้ว ยัง สามารถใช้เป็นฐานกำลังของตนในการขยายอำนาจ โดยเพิ่มความสำคัญทางการเมืองให้กับเมืองนครราชสีมา ขึ้นเป็นศูนย์อำนาจในระดับภูมิภาคแทน ภายใต้การสนับสนุนของราชสำนัก เมืองนครราชสีมาได้กลายเป็นฐานกำลังของราชสำนักอยุธยาในภูมิภาคนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของราชสำนักในการควบคุมปกครองหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้สำเร็จ และผลักดันเมืองศูนย์กลางเดิมให้มีฐานะเป็นเมืองขึ้น
          ชื่อเมืองนครราชสีมาปรากฏครั้งแรกในทำเนียบหัวเมือง ตามกฎหมายตราสามดวงบทพระอัยการนายทหารหัวเมืองที่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นเมืองเดียวที่ปรากฏในทำเนียบเมืองสมัยอยุธยาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนของเมืองพิมายน่าจะคงอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา แต่เป็นเมืองขึ้นที่มีประชากรหนาแน่น พื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและคมนาคมจากเมืองนครราชสีมาไปสู่อาณาจักรเขมร และเจ้าเมืองพิมายน่าจะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดหรือเป็นที่ไว้ใจพิมายน่าจะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดหรือเป็นที่ไว้ใจของเจ้าของเจ้าเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มเมืองนครราชสีมา –พิมาย เข้ามาใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจในส่วนกลางมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มห่างไกลจากเขมรมากขึ้นเรื่อยๆจนสามารถพัฒนาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนโดยเฉพาะด้านภาษาพูด แต่ในช่วงเวลานี้อำนาจของอยุธยายังคงครอบคลุมอยู่เพียงตอนต้นของแม่น้ำมูล
          ในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๐๐) ได้ทรงส่งช่าวชาวฝรั่งเศสมาออกแบบผังเมืองและสร้างป้อมกำแพงเมืองนครราชสีมาใหม่ ก็ปรากฏชื่อของเมืองพิมายเป็นเมืองหน้าด่านของนครราชสีมาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงว่าน่าจะเป็นไปได้ที่ในระยะเวลาก่อนหน้านี้ เมืองพิมายได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยาอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของราชสีมา
          เมื่อสมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้วางพระทัยอีกคนหนึ่งไม่ยอมอ่อนน้อมราชสำนักอยุธยาต้องใช้เวลาปราบกบฏกว่า ๓ ปี เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว เมืองนครราชสีมาได้ถูกลดบทบาทลง โดยให้หัวเมืองที่ขึ้นกับนครราชสีมาเพิ่มบทบาททางการเมืองของตนให้มากขึ้น เป็นการถ่วงดุลมิให้มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงเมืองเดียว ทำให้เมืองนครราชสีมาอ่อนแอลง เพราะเกิดกบฏบุญกว้างซึ่งเป็นลาว สามารถยึดนครราชสีมาได้และยกลงมาจนถึงลพบุรี จากนโยบายนี้และการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งของชาวกุยในเขตควบคุมของเมืองพิมายในปลายสมัยอยุธยาทำให้ฐานะของเมืองพิมายเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง
          ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๒๖๐ ชาวกุยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่จำปาศักดิ์แถบเมืองอัดปือแสงปางได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่า เขมรป่าดง (ปัจจุบันคือพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษ) เข้ามาตั้งชุมชนกระจัดกระขายอยู่ทั่วไป การเข้ามาของชาวกุยทำให้เมืองพิมายต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะดินแดนเขมรป่าดงอยู่ในเขตปกครองเมืองพิมาย ซึ่งครอบคลุมไปถึงเขตแดนต่อกับเมืองจำปาศักดิ์ (บริเวณห้วยขยุงในเขตจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ดังนั้นเมืองพิมายซึ่งมีฐานะเป็นเพียงเมืองขึ้นของนครราชสีมาจึงเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นเพื่อควบคุมชาวกุยเหล่านี้ ในช่วง ๑๐ ปี สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ภายใต้การสนับสนุนของราชสำนัก เมืองพิมายมีอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองพอๆกับนครราชสีมา เนื่องจากต้องการให้มีความเข้มแข็งสามารถควบคุมชาวกุยที่อพยพเข้ามาตั้งชุมชนใหม่ๆ ได้
          ปี พ.ศ. ๒๓๐๒ ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ทรงตั้งผู้นำชาวกุย ๕ คน ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ทำราชการควบคุมชาวกุยในเขตชุมชนของตนโดยให้ขึ้นกับเมืองพิมาย เป็นการตอบแทนที่ช่วยจับช้างเผือกกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา เจ้าเมืองพิมายได้เข้ามาควบคุมปกครองชาวกุยอย่างจริงจัง โดยตั้งชาวกุยออกเป็นชุมชน เป็นบ้านต่างๆ จากการปฏิบัติราชการของเจ้าเมืองพิมายยังความพอพระทัยให้กับพระเจ้าเอกทัศน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วยของป่าที่มีค่าของชาวกุยได้ถูกลำเลียงไปสู่ราชสำนัก เป็นสินค้าที่มีค่าสูงในระบบการค้าต่างประเทศของอยุธยาอย่างมากมาย เช่น ช้าง แก่นสน ปีกนก นอแรด งาช้าง
          ต่อมาให้ยกชุมชนชาวกุยจากบ้านขึ้นเป็นเมือง คือเมืองขุขันธ์ เมืองประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) เมืองสังขะ และเมืองรัตนบุรี เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองเหล่านี้จากหลวงขึ้นเป็นพระ โดยให้ขึ้นกับเมืองพิมาย ทำให้เมืองพิมายมีอำนาจและบารมีเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งมีความมั่นใจที่ทำให้เมืองพิมายเป็นศูนย์กลางอำนาจท้องถิ่นแทนเมืองนครราชสีมา และประสบความสำเร็จในช่วง พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๑๑
          การที่พม่ามุ่งเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทำให้หัวเมืองตะวันออกอยู่นอกเขตการรบ จึงยังคงมีกำลังทรัพย์และกำลังคนที่อุดมสมบูรณ์อยู่ เหมาะกับการที่จะใช้เป็นที่ตั้งฐานกำลังเพื่อขยายอำนาจทางการเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธและพรรคพวกจึงยึดครองเมืองนครราชสีมาไว้ แต่ก็ถูกตีโต้จากขุนนางท้องถิ่นของเมืองพิมายจนประสบความพ่ายแพ้
          เจ้าเมืองพิมายต้องการให้กรมหมื่นเทพพิพิธประทับอยู่ที่เมืองพิมายจนมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเมืองนครราชสีมา สถาปนากรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้ารวมทั้งจัดตั้งรัฐอิสระขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลโดยมีเขตแดนตั้งแต่หัวเมืองตะวันออกฝั่งดอนไปจรดเขตแดนของหัวเมืองลาว ใช้ชื่อว่าชุมนุมเจ้าพิมายและย้ายศูนย์กลางอำนาจจากนครราชสีมา มาอยู่ ณ เมืองพิมาย คงทิ้งกำลังทหารจำนวนหนึ่งไว้นอกเมืองนครราชสีมาเพื่อรักษาเมืองเท่านั้น พร้อมทั้งสถาปนาขุนนางน้อยใหญ่ตามแบบราชสำนักโดยให้พระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการ ตั้งบุตรพระพิมายเป็นพระยามหามนตรีและพระยาวรวงศาธิราช มีข้าราชการและผู้มีที่หนีมาจากกรุงศรีอยุธยาเข้ามาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ปรากฏมีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายทีเมืองพิมายหลายแห่ง เช่น เมรุน้อยและโบสถ์เจ้าพิมาย ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว เมรุพรหมทัตและพระพุทธรูปขนาดใหญ่อีก ๒ องค์ ปัจจุบันอยู่ที่วัดเดิม อำเภอพิมาย เข้าใจว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงได้ตกอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และพรรคพวก
          เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่ข้าศึกที่ยึดครองอยู่บริเวณภาคกลางของไทยไปแล้ว จึงเริ่มนโยบายรวมชาติ โดยเข้าโจมตีชุมชนเจ้าพิมายในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ ชุมนุมพิมายได้จัดทัพรับแต่ก็พ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มขุนนางที่เข้าร่วมกับชุมนุมเจ้าพิมายหนีหายไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระยามหามนตรี และตัวกรมหมื่นเทพพิพิธถูกประหารชีวิต เป็นอันสิ้นสุดสภาพรัฐอิสระของพิมายอย่างเด็ดขาด
          พระเจ้าตากสินฯ ทรงจัดการปกครองหัวเมืองแถบนี้เสียใหม่ โดยให้นครราชสีมาเป็นเมืองเอกเมืองเดียวในภูมิภาคอีสีสาน แต่ก็ยังทรงทำอะไรไม่ได้มากนัก เนื่องจากยังมีสงครามติดกันอยู่ และราชสำนักเอง ก็ขาดแคลนกำลังคนในการจัดการปกครองในภูมิภาค จึงต้องใช้ขุนนางในพื้นที่ แต่การแต่งตั้งเจ้าเมืองนครราชสีมาและเมืองพิมาย ทรงกระทำด้วยความรอบครอบเพราะต้องการคนที่ไว้วางพระทัย เนื่องจากหัวเมืองแถบนี้มีกำลังคนมากและเคยจัดจั้งชุมนุมเป็นรัฐอิสระมาแล้ว
          จะด้วยเหตุใดก็ตาม ทรงแต่งตั้งให้ขุนขนะ (ต้นสกุล กาญจนาคม) ขุนนางท้องถิ่นในนครราชสีมา ที่มีความดีความชอบในการจับกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาผู้นี้ เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าตากสินฯอีกผู้หนึ่งในช่วงจลาจลในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ส่วนเจ้าเมืองพิมายเมืองขึ้นของนครราชสีมาจะเป็นผู้ใดไม่ปรากฏ แต่มีชื่อของยกกระบัตรเมืองพิมาย (ปิ่น ต้นสกุล ณ ราชสีมา) ผู้ที่ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองพิมายและนครราชสีมาในโอกาสต่อไป














-----------------------------------------------------------
ข้อมูลและเรียบเรียงนำเสนอ โดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
-----------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
ขจีรัตน์ ไอราวัณวัฒน์. ความสำคัญทางการเมืองของเมืองนคราชสีมา : บทบาทของเจ้าเมืองตระกูล ณ ราชสีมา ระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๘๘ วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๓๒ คุรุสภา ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓ กรุงเทพฯ:คุรุสภา ,๒๕๐๖ ---------.ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐ กรุงเทพฯ:คุรุสภา ,๒๕๒๘ ดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยา .จดหมายเหตุเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และ มณฑลอุดรอีสาน ร.ศ. ๑๒๕ พ.ศ.๒๔๔๙ .กรุงเทพฯ:มูลนิธิสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล และพะราชธิดา,๒๕๗๘ เติม วิภาคย์พจนกิจ.ประวัติศาสตร์อิสาน.พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์๒๕๓๐ ธิดา สาระยา เมืองประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ ๒๕๓๘ มานิต วัลลิโภดม นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน พระราชทานเพลิงศพขุนคงฤทธิ์,กรุงเทพฯ:คุรุสภา ๒๕๑๓ ศรีศักดิ์ วัลลิโภคมโบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา.กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ ๒๕๒๕ ศิลปากร,กรม พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ กรุงเทพฯ ชุมชนสหกรณ์แห่งประเทศไทย ๒๕๓๔๐ -----------. พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาน พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้านางโสฬสนารี ณ จำปาศักดิ์ สาระโสภณ กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์,๒๕๓๙ ----------. เรื่องกฎหมายตราสามดวง กรุงเทพฯ:อุดมศึกษา,๒๕๒๐ สุรัตน์ วรางครัตน์ การค้าต่างแดนของอิสานในอดีต ,วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ เล่มที่ ๒ ๒๕๒๗ สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา,นครราชสีมา :นิวส มบูรณ์การพิมพ์ ,๒๕๒๖ ----------. หมู่พงศาวดารชื่อพงศาวดารเมืองประทายสมันต์ เลขที่ ๐๐๑,๓

(จำนวนผู้เข้าชม 2737 ครั้ง)