เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ตราดินเผารูปสิงห์ พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
ตราดินเผารูปสิงห์ พบจากเมืองโบราณอู่ทอง นายเรวัตร ธรรมจักร มอบให้เมื่อ ๙ มีนาคม ๒๕๐๔ จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราดินเผารูปกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๒ เซนติเมตร หนา ๒.๒ เซนติเมตร ผิวหน้ามีรอยประทับเป็นนูนต่ำรูปสิงห์ มองเห็นด้านข้าง โดยสิงห์นั่งหันหน้าไปทางด้านขวา สิงห์มีตากลมโต จมูกกลม อ้าปาก มีแผงคอลักษณะเลียนแบบธรรมชาติ ขาหน้าเหยียดตรง ขาหลังพับงอนั่งลงกับพื้น หลังเอนลาดลง หางยกตั้งขึ้น รูปสิงห์บนตราประทับนี้แสดงลักษณะทางกายวิภาคและท่านั่งที่ค่อนข้างสมจริงตามธรรมชาติ ด้านหน้าของสิงห์มีรูปนูนต่ำ อาจเป็นสัญลักษณ์มงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ลบเลือนมากไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ด้านข้างของตราดินเผามีรอยประทับเป็นรูปทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๖ เซนติเมตร ภายในเป็นรอยประทับนูนต่ำรูปสิงห์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับสิงห์ที่อยู่ด้านหน้าตราดินเผา
สิงห์เป็นสัตว์มงคลที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับศาสนา ตามคติในศาสนาพุทธ สิงห์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นสิงห์แห่งศากยวงศ์ ทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีอำนาจและพละกำลัง เป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์และความดี พบมากในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี ทั้งในประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นประดับศาสนสถาน ประติมากรรมรูปสัตว์ที่สันนิษฐานว่าเป็นส่วนประดับฝาภาชนะ และตราดินเผา นอกจากนี้ที่เจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง ยังพบประติมากรรมสำริดรูปสิงห์ที่มีรูปแบบลักษณะและท่านั่งที่คล้ายคลึงกับรูปสิงห์บนตราประทับนี้ด้วย
ตราดินเผารูปสิงห์ลักษณะคล้ายคลึงกันนี้พบมาแล้วในศิลปะอินเดียแบบคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ หรือประมาณ ๑,๕๐๐ – ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว) และหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ หรือประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว) จึงสันนิษฐานว่าตราดินเผารูปสิงห์นี้เป็นของที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี โดยรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบและคติความเชื่อมาจากอินเดีย อาจใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือเป็นชนชั้นสูง รวมถึงอาจใช้เป็นเครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคล กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมือง โบราณ, ๒๕๖๒. อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสต รมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 2156 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน