เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ก่อนประวัติศาสตร์ แรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่ตำบลในวงเหนือ-ในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ตอนที่ ๑ : รู้จัก “ในวง”
ความเป็นมา
จังหวัดระนองตั้งอยู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน ในอดีตเป็นพื้นที่ที่สามารถรับและแลกเปลี่ยนอารยธรรมจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาทั้งทางบกและทางทะเล ดังปรากฏหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ – แรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่เคยมีการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เช่น แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ถ้ำประกายเพชร ถ้ำเสือ และ ถ้ำน้ำลอด
ระยะต่อมาปรากฏร่องรอยหลักฐานเมืองท่าโบราณยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เช่น แหล่งโบราณคดีปากจั่น อำเภอกระบุรี และกลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง อำเภอสุขสำราญ โดยพบลูกปัดที่ทำจากแก้ว หิน และทองคำ และโบราณวัตถุอื่นๆ อีกจำนวนมากที่แสดงถึงการติดต่อกับอินเดียอย่างชัดเจน รวมทั้งล่าสุดพบหลักฐานซากเรือโบราณที่หาดปากคลองกล้วย ใกล้กับแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าพื้นที่แถบนี้ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางทะเล การเผยแผ่ศาสนา ความเชื่อ และการแลกเปลี่ยนอารยธรรมจากภายนอก เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ที่ตั้งและสภาพโดยทั่วไป
ตำบลในวงเหนือและตำบลในวงใต้ เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ของอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอละอุ่นประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากลักษณะทางกายภาพที่มีภูเขาล้อมรอบพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นวงนี้ จึงได้ถูกเรียกว่า “ในวง” ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๘ เริ่มมีราษฎรโดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยทยอยเข้ามาอยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม จนปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์ และเกิดการผสมสานทางวัฒนธรรมอีกด้วย
ข้อมูลตามประวัติตำบลละอุ่นเหนือ กล่าวถึงคำว่า "ละอุ่น" มาจากชื่อนายอุ่น คนแรกที่เข้ามาอยู่ โดยอพยพมาจากภาคอีสาน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "ตาลาวอุ่น" หรือ "ลาวอุ่น" ซึ่งเป็นคำที่คนทางภาคใต้ใช้เรียกคนอีสานว่า "ลาว" ต่อมาเมื่อเป็นชุมชนก็มีการเรียกชื่อชุมชนว่า "ลาวอุ่น" และคนภาคใต้ชอบใช้คำสรรพนามสั้นๆ จึงกร่อนคำเหลือเพียง "ละอุ่น" จึงสันนิษฐานว่าต่อมาได้ใช้คำว่า “ละอุ่น” ใช้ตั้งเป็นชื่อของอำเภอและตำบลในพื้นที่บริเวณนี้
ลักษณะทางภูมิศาสตร์
ลักษณะภูมิศาสตร์บริเวณพื้นที่ตำบลในวงเหนือและในวงใต้ ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาสูงโดยเฉลี่ย ๓๐๐ – ๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล บางบริเวณเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา เนินเขา และที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ตอนกลางของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลูกเนินสลับภูเขาหินปูนที่มีผนังสูงชันและมียอดแหลมๆ มากมายหลายยอดซ้อนกัน ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันเพิ่มตามระดับและเป็นพื้นที่ต้นน้ำ
บริเวณพื้นที่ใจกลางตำบลในวงเหนือและในวงใต้ มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่มีชุดหินเป็นหินปูน หินปูนเนื้อโดโลไมต์ มีเชิร์ตแทรกเป็นก้อนและเป็นชั้น หินโดโลไมต์ มีซากฟูซูลินิด หอยแบรคิโอพอด ปะการัง และ ไบรโอซัว จัดเป็นหินยุคเพอร์เมียน (อายุประมาณ ๒๘๖-๒๔๕ ล้านปี) ส่วนมากมีลักษณะเป็น เขาโดด จัดอยู่ในกลุ่มหินราชบุรี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นหินปูนและโดโลไมต์ แสดงลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต(karst) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการกร่อนของเขาหินปูน โดยจะมีเขาโดดๆ รูปร่างต่างๆ มีถ้ำและเพิงผา ซึ่งภายในพบหินงอกหินย้อย
ประวัติการศึกษา/ดำเนินการ ที่ผ่านมาของกรมศิลปากร
พ.ศ. ๒๕๔๒ สำรวจพบแหล่งโบราณคดี “ถ้ำกลุ่มหมอลำ” ในเขตหมู่ที่ ๓ ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง บริเวณที่พักสงฆ์ปัญจการุณ พบโบราณวัตถุ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวและที่ฝังศพของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ – แรกเริ่มประวัติศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๔๘ สำรวจพบแหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร พบร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ ๔,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เป็นหลักฐานที่สามารถบอกได้ว่าในพื้นที่อำเภอละอุ่น มีการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และสามารถใช้เป็นตัวแทนในการอธิบายภาพรวมการกระจายตัวของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
พ.ศ. ๒๕๕๓ สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เพื่อตรวจสอบสมมติฐานถึงวิถีชีวิตชุมชนและตรวจสอบการกระจายตัวของวัฒนธรรมหินใหม่ และหลักฐานเกี่ยวกับหม้อสามขา พบแหล่งโบราณคดีจากการสำรวจ จำนวน ๓๐ แหล่ง ที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาสามขา เครื่องมือหิน ลูกปัดหิน ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และกระดูกสัตว์ เปลือกหอยน้ำจืดและน้ำเค็ม
พ.ศ. ๒๕๕๖ สำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำนางนอน เขาไม้แก้ว และถ้ำประกายเพชร จากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ กระดูกและฟันสัตว์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำน้ำลอด จากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์
พ.ศ.๒๕๖๑ กรมศิลปากร ประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตจังหวัดระนอง ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนพิเศษ ๑๖๕ ง วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ หน้า ๒๕ พื้นที่อำเภอละอุ่น จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ ๑) แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ๒) แหล่งโบราณคดีถ้ำนางนอน-เขาไม้แก้ว ๓) แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๔) แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ ๕) แหล่งโบราณดีถ้ำน้ำลอด
วันที่ ๒๓-๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและ ในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง พบแหล่งโบราณคดีจำนวน ๑๒ แหล่ง ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ – แรกเริ่มประวัติศาสตร์
วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช สำรวจแหล่งโบราณคดีเพิ่มเติมในพื้นที่กลุ่มถ้ำฉานผึ้ง ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง พบแหล่งโบราณคดีจำนวน ๒ แหล่ง ได้แก่ ถ้ำฉานผึ้ง ๓ และถ้ำฉานผึ้ง ๔
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่กลุ่มถ้ำฉานผึ้ง ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง พบแหล่งโบราณคดีจำนวน ๑ แหล่ง ได้แก่ ถ้ำฉานผึ้ง ๕
แหล่งโบราณคดีและหลักฐานที่พบจากการสำรวจ
จากประวัติการศึกษาและการสำรวจทางโบราณคดีบริเวณกลุ่มภูเขาหินปูน ในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและตำบลในวงใต้ ที่ผ่านมา พบแหล่งโบราณคดี ๑๖ แหล่ง ได้แก่ ๑. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๑ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๒. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๒ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๓. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๓ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๔. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๔ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๕. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๕ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๖. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๑ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๗. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๒ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๘. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๓ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๙. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๔ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๑๐. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๕ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๑๑. แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๒. แหล่งโบราณคดีถ้ำนางนอน-เขาไม้แก้ว หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๓. แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ๑ หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๔. แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ๒ หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๕. แหล่งโบราณคดีถ้ำหนัดได หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๖. แหล่งโบราณคดีถ้ำน้ำลอด หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้
--------------------------------------------------------
สำรวจ/เรียบเรียง/กราฟิก :
ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
--------------------------------------------------------
อ้างอิง
๑. กรมทรัพยากรธรณี. สำนักธรณีวิทยา. แผนที่ธรณีวิทยาจังหวัดระนอง ปี ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ: กรมทรัพยากรธรณี, ๒๕๕๐.
๒. กรมแผนที่ทหาร. อำเภอละอุ่น. ระวาง 4729 II. แผนที่ประเทศไทย ลำดับชุด L 7018. 2543. มาตราส่วน 1 : 50,000.
๓. กรมศิลปากร. สำนักโบราณคดี. รายงานเบื้องต้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ ตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๕๓.
๔. สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. กลุ่มโบราณคดีและอนุรักษ์โบราณสถาน สาขาภูเก็ต. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ในวงเหนือและในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๖๒.
๕. สำนักงานศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต. กลุ่มวิชาการโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๔๘.
๖. สำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต. กลุ่มโบราณคดี. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำน้ำลอด บ้านเนินทอง หมู่ ๒ ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๕๘. ๗. องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ. ประวัติตำบลละอุ่นเหนือ. เข้าถึงเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒, เข้าถึงได้จาก http://www.launnuae.go.th/history.php
(จำนวนผู้เข้าชม 3462 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน