เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
"เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ” เหรียญโบราณที่พบในแหล่งโบราณคดีภาคใต้ของไทย
ภาคใต้ของไทยมีการค้นพบเหรียญโบราณที่มีรูปสัญลักษณ์มงคลของอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็น “เงินตรา” หรือเป็น “สื่อกลาง” ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทางการค้าในสมัยโบราณ โดยพบมากบริเวณเมืองท่าและเมืองโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย เช่น แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จังหวัดพังงา
สำหรับเหรียญที่นำมากล่าวถึงในองค์ความรู้ชุดนี้ คือ “เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ” พบที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลมแบน ทำจากโลหะเงิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย ๓ เซนติเมตร พบทั้งเหรียญที่มีสภาพสมบูรณ์ และเหรียญที่มีการตัดแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ (สองส่วนและสี่ส่วน) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการตัดแบ่งเหรียญเพื่อให้เป็นหน่วยย่อยในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปพระอาทิตย์ มีเส้นรอบวงและลายไข่ปลาล้อมรอบ ส่วนด้านหลังของเหรียญเป็นรูปศรีวัตสะ และมีสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลล้อมรอบ ประกอบด้วย ฑมรุ (กลอง ๒ หน้า) สวัสดิกะ พระจันทร์ และพระอาทิตย์
รูปพระอาทิตย์ และศรีวัตสะ เป็นสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อของชาวอินเดีย มีการศึกษาพบว่าสัญลักษณ์ที่มักปรากฏบนเหรียญโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์ ศรีวัตสะ สังข์ และวัวมีโหนก ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์ของมงคล ๘ ประการ (อัษฏมงคล) และกลุ่มสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการ (อัฏฐุตตรสตะมงคล) ของอินเดีย และเป็นสัญลักษณ์ที่เคยปรากฏมาก่อนบนเหรียญและตราประทับของกษัตริย์อินเดียสมัยราชวงศ์สาตวาหนะ (พุทธศตวรรษที่ ๕ - ๘) สมัยราชวงศ์คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑) และสมัยราชวงศ์ปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔)
ความหมายของสัญลักษณ์รูป “พระอาทิตย์” (Rising Sun) ที่ปรากฏบนเหรียญ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความเป็นมงคล ซึ่งการบูชาพระอาทิตย์ในฐานะเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และพืชพันธ์ธัญญาหารมีมาอย่างยาวนานในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอินเดียสัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์จะพบมากบนเหรียญประเภทเหรียญตอกลาย (punch-marked coins) ของกษัตริย์อินเดียโบราณ โดยมักปรากฏอยู่ด้านหน้าของเหรียญ ส่วนสัญลักษณ์รูป “ศรีวัตสะ” (Srivatsa) แปลตามรูปศัพท์ว่า “ที่ประทับของศรี” เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศรีหรือลักษมีในรูปคชลักษมีหรืออภิเษกของศรี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง มีการสันนิษฐานว่ารูปศรีวัตสะที่ปรากฏอยู่ด้านหลังของเหรียญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบมาจากรูปศรีวัตสะที่ปรากฏบนเหรียญของกษัตริย์อินเดียราชวงศ์ศาสวาหนะ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๔-๘) ต่อมาเมื่อรูปศรีวัตสะมาปรากฏบนเหรียญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งผลิตโดยกษัตริย์ท้องถิ่น จึงมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดรอบศรีวัตสะทำให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สำหรับสัญลักษณ์ที่ล้อมรอบศรีวัตสะ ได้แก่ ฑมรุ (กลอง ๒ หน้า) มีความหมายสื่อถึงการสร้างโลก และเป็นสัญลักษณ์ที่มักปรากฏอยู่ในพระหัตถ์ของพระศิวะ ส่วนสัญลักษณ์รูปสวัสดิกะ ถือเป็นหนึ่งในอัษฏมงคล ในพระราชพิธีราชาภิเษก
จากการศึกษาพบว่า เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ พบที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชดังกล่าวมานี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์ - ศรีวัตสะที่พบแพร่หลายในเมืองโบราณสมัยทวารวดีเกือบทุกแหล่งในทางภาคกลางของไทย เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม และบ้านเมืองอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เมืองไบถาโน เมืองศรีเกษตร และเมืองฮาลิน ประเทศพม่า ส่วนในภาคใต้ของไทยพบเหรียญลักษณะเดียวกันนี้ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่น่าสนใจคือพบว่ามีการค้นพบแม่พิมพ์เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ (และแม่พิมพ์รูปสังข์ – ศรีวัตสะ) ในเมืองโบราณสมัยทวารดีในภาคกลางของประเทศไทย เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ จึงมีการสันนิษฐานว่าเหรียญดังกล่าวน่าจะมีการผลิตขึ้นเองในรัฐทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย โดยนำเอาสัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของอินเดีย ซึ่งสื่อความหมายถึงความเป็นมงคล ความอุดมสมบูรณ์ และพระราชอำนาจของกษัตริย์มาใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการผลิตเหรียญสำหรับใช้เป็นเงินตรา เพื่อที่จะควบคุมค่าเงินในการค้าขายกับชุมชนภายนอก
ดังนั้น การค้นพบเหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ ที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างระหว่างผู้คนในชุมชนโบราณภาคใต้ กับรัฐทวารวดีทางภาคกลางของไทย รวมถึงบ้านเมืองอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันเหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ จากบ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังกล่าว เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
-----------------------------------------------------------
เรียบเรียง/กราฟิก:
นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
-----------------------------------------------------------
อ้างอิง
๑.ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์. เหรียญกษาปณ์ในประเทศไทย .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๑๖.
๒.ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒.
๓.อนันต์ โพธิ์กลิ่นกลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี,” วิทยานิพนธ์ระดับปริญญามหาบัณฑิตสาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
๔.J.Allan. Catalogue of Coins of Ancient India in the British Museum. New Delhi : Oriental Book Reprint Coration, ๑๙๗๕.
๕.Kiran Thaplyal. Studies in Ancient India Seals . Lucknow : Prem
(จำนวนผู้เข้าชม 3318 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน