เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
โรงละครปรีดาลัย ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โรงมหรสพแห่งแรกในสยาม
โรงละครปรีดาลัย ได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงละครแบบตะวันตกที่โอ่อ่าและทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ตั้งขึ้นในบริเวณวังวรวรรณ อยู่ด้านทิศเหนือของสะพานช้างข้างโรงสี อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สร้างตามแบบอย่างโรงละครหรือโอเปร่าของตะวันตก มีการแบ่งที่นั่งเป็นส่วน ๆ ตรงกลางเป็นที่นั่งของเจ้านาย ชนชั้นสูง ผู้มีบรรดาศักดิ์ ด้านข้างเป็นที่นั่งสำหรับผู้ติดตาม บุคคลทั่วไป มีบาร์ขายเครื่องดื่มและอาหารว่าง จัดแสดงเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณากร) เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ณวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ทรงเป็นต้นราชสกุล วรวรรณ ทรงเริ่มรับราชการครั้งแรกในหอรัษฎากรพิพัฒน์ ตำแหน่งพนักงานการเงินแผ่นดิน ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ และ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ยังทรงเป็นสภานายกของหอพระสมุดวชิรญาณอีกด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้านายผู้ทรงสนใจศิลปะการละคร ได้รับการปลูกฝังจากเจ้าจอมมารดาเขียน พระมารดา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์บทละครร้องมากมายนับร้อยเรื่อง ทรงพัฒนาปรับปรุงจากการแสดงละครไทยผสมรวมกับการแสดงแบบตะวันตก กลายเป็นละครร้องรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า ละครปรีดาลัย ซึ่งผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน ๆ เป็นละครร้องเพลงไทย มีบทเป็นพื้นใช้เจรจาแทรกตามเนื้อเรื่อง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรละครเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง และยังโปรดฯ ให้เล่นละครเพื่อต้อนรับราชทูตชาวตะวันตก ณ พระราชวังดุสิตอีกด้วย โรงละครแห่งนี้จึงเป็นโรงมหรสพของชาววังและ ชนชั้นสูงที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๔ พระองค์ได้หยิบยกตำนานรักของไทยเรื่อง อำแดงนาก มาทรงนิพนธ์เป็นบทละครร้องชื่อเรื่องว่า อีนากพระโขนง ละครร้องเรื่องนี้นับเป็นละครร้องเรื่องแรกที่ได้แสดงในโรงละครปรีดาลัย และได้กลายเป็นนิยายรักสยองขวัญสุดคลาสสิคที่ถูกนำมาสร้างในรูปแบบภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีในยุคสมัยต่อมา โรงละครปรีดาลัยได้กลับมาเฟื่องฟูอีกยุคหนึ่งภายใต้การดูแลของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระธิดา ได้ทรงฟื้นฟูการละครฯ ของพระบิดาอีกครั้ง ได้ปรับเปลี่ยนการแสดงโดยใช้นักแสดงชายจริงหญิงแท้ และวงดนตรีสากลเข้ามา และทรงนิพนธ์บทละครบางเรื่องขึ้นด้วย จนกระทั่ง พระนางเธอลักษมีลาวัณเสด็จไปประทับ ณ ทวีปยุโรป ละครปรีดาลัยจึงได้ปิดตัวลงเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๗ วังวรวรรณตกอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาขุนแพร่นครนฤเบศร์ (เหรียญ ตะละภัฏ) ได้ขอเช่าวังแห่งนี้จากสำนักงานทรัพย์สินฯ จัดตั้งเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา จนกระทั่งโรงเรียนแห่งนี้ได้ปิดกิจการลงใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ปัจจุบันอาคารส่วนหนึ่งใช้เป็นสำนักงานสมหมาย ตะละภัฏ ทนายความ ของนายกัลลวัตร ตะละภัฏ ประธานชมรมแพร่งนรา อาคารแห่งนี้ครั้งหนึ่งได้เคยเป็นโรงละครปรีดาลัย แหล่งบันเทิงที่นิยมสูงสุดของชาววังตลอดจนบุคคลภายนอก อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่ให้เราได้ชมความงดงามจนมาถึง ทุกวันนี้
------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : อุดมพร เข็มเฉลิม บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
ปรียา ม่านโคกสูง และคนอื่น ๆ, บรรณาธิการ. บางกอก เล่าเรื่อง (วัง). กรุงเทพฯ : สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๕. เพลินพิศ กำราญ และเนียนศิริ ตาละลักษณ์. พระประวัติและผลงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ นราธิปประพันธ์พงศ์. กรุงเทพฯ : ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์, ๒๕๒๒. (มูลนิธิ “นราธิป ประพันธ์พงศ์ – วรวรรณ” จัดพิมพ์เนื่องในพระราชวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๒). เอนก นาวิกมูล. เปิดตำนาน แม่นากพระโขนง. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ : โนรา, ๒๕๔๙. พันธกานต์ ใบเทศ. “ ละครร้องกรมพระนราฯ: ขุมปัญญาทางการแสดงจากวังสู่บ้าน” วารสารศิลปกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ๒๓,๒ (กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๒๒). ๙๓ – ๑๐๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 10069 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน