เมืองโบราณเมืองหงส์ จังหวัดร้อยเอ็ด
          เมืองโบราณเมืองหงส์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านเมืองหงส์ ตำบลเมืองหงส์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ตัวเมืองมีลักษณะเป็นเนินดินทรงกลมรี มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น ขนาดประมาณ ๖๐๐ x ๑๐๐๐ เมตร แนวคูเมืองที่ยังคงเห็นได้ชัดเจน คือ หนองใหญ่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และ หนองฝายทางด้านทิศตะวันออก มีห้วยตะโกงเป็นแนวเชื่อมน้ำจากหนองฝายกับอ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดง ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางด้านทิศใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร สภาพโดยรวมพบว่า แนวคูเมืองส่วนใหญ่ตื้นเขินและถูกปรับไถเป็นที่นา เหลือให้เห็นเป็นร่องน้ำแคบๆ ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๒๗ กล่าวว่าคูเมืองเดิมมีขนาดกว้างประมาณ ๖๐ เมตร ส่วนคันดินยังคงเหลือให้เห็นบางส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทางด้าน ทิศใต้บริเวณด้านหลังโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองหงส์ สภาพปัจจุบันกำแพงเมืองมีความกว้างประมาณ ๓๐ เมตร สูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร
          จากรายงานการสำรวจเมืองโบราณเมืองหงส์ของกรมศิลปากรเมื่อปี ๒๕๒๗ ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุและร่องรอยโบราณสถานที่พบในเขตเมืองโบราณเมืองหงส์ ซึ่งไม่เหลือให้เห็นแล้วในปัจจุบัน ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) และชิ้นส่วนภาชนะ ดินเผาเคลือบสีขาวไข่กา (Celadon) นอกจากชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบทั่วไปแล้ว ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ตะกรัน หรือ ขี้แร่ (Slag) ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกมนุษย์ (Burial jar) โครงกระดูกมนุษย์ ตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ อิฐเก่า และพระพุทธรูปสำริด เป็นต้น (กรมศิลปากร : ๒๕๒๗)
          นอกจากร่องรอยของโบราณสถานภายในตัวเมืองบริเวณวัดหงส์สุวรรณารามแล้ว ยังมีโบราณสถานนอกเมืองอีก ๑ แห่ง ตั้งอยู่ห่างออกไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๗๐๐ เมตร สภาพเหลือเพียงส่วนฐาน กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและเสริมความมั่นคงในปี ๒๕๓๕ โดยโบราณสถานหลังขุดแต่งทางโบราณคดี มีลักษณะดังนี้ องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ๖ เมตร ทำเป็นมุขยื่นออกมาด้านละ ๓๐ เซนติเมตร สร้างซ้อนกัน ๒ ชั้น ส่วนฐานสูง ๑๔๐ เซนติเมตร ตรงกลางองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นห้องขนาด ๒ x ๑.๕ เมตร การก่ออิฐไม่เป็นระเบียบนัก อิฐที่ก่อมีความหนาบางไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเป็นเพราะจะต้องฉาบปูนปิดอีกที จึงไม่จำเป็นที่จะใช้อิฐขนาดเท่ากันเสมอไป หรืออาจเป็นอิฐที่ปั้นขึ้นจากศรัทธาหลายคนต่างบริจาคมาร่วมในการก่อสร้าง จึงทำให้อิฐมีขนาดไม่เท่ากัน ก่อนที่จะเริ่มก่ออิฐปรากฏหินกรวดผสมดินเหนียวและ ศิลาแลงเป็นวัสดุรองพื้น จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปสำริดศิลปะทวารวดี พุทธลักษณะประทับยืน สูง ๑๓.๗ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร เม็ดพระศกเป็นก้นหอย ไม่มีรัศมี พระพักตร์กลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวลงมาถึงต้นพระศอ พระศอ เป็นปล้อง ครองจีวรห่มคลุมแนบพระวรกาย ชายจีวรยาวจรดข้อพระบาท พระกรทั้งสองข้าง และพระบาท หักหายไป และยังได้พบลูกปัดหินควอทซ์สีขาว ลักษณะเป็นเม็ดกลมขนาดเส้นรอบวง ๑๑ เซนติเมตร เจาะรูทะลุตรงกลาง (กรมศิลปากร : ๒๕๓๕)
          จากลักษณะของคูเมืองกำแพงเมือง เจดีย์เมืองหงส์ และโบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๒๗ สันนิษฐานว่าเมืองโบราณเมืองหงส์ มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และพัฒนาเข้าสู่ ยุคสังคมเมืองสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ และวัฒนธรรมเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ เนื่องจากภายในเมืองโบราณและบริเวณใกล้เคียงได้สำรวจพบภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ชิ้นส่วน ไหเท้าช้าง และภาชนะเครื่องเคลือบแบบวัฒนธรรมเขมร รวมถึงมีความต่อเนื่องมาจนถึงวัฒนธรรมอีสาน - ล้านช้าง เพราะพบว่ามีการกล่าวถึงชื่อเมืองหงส์ในตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นตำนานสำคัญทางศาสนาที่แต่งขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓
          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ภายในตัวเมืองโบราณยังไม่เคยทำการขุดค้นทางโบราณคดี มีแต่เพียงเจดีย์เมืองหงส์ ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเท่านั้นที่ได้รับการขุดแต่งและพบหลักฐานเพียงสมัยทวารวดี ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของเมืองโบราณเมืองหงส์ จึงต้องมีการศึกษาทางวิชาการโบราณคดีต่อไป










--------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลโดย นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
--------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
กองโบราณคดี. (๒๕๒๗). รายงานการสำรวจแหล่งเมืองโบราณ บ้านเมืองหงส์ ตำบลเมืองหงส์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด. เล่มที่ ๑/๒๕๒๗, โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กรมศิลปากร : กองโบราณคดี. หน่วยศิลปากรที่ ๖. (๒๕๓๕). รายงานการขุดแต่งและเสริมความมั่นคงเจดีย์เมืองหงส์ อำเภอ จตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด. ฉบับที่ ๑๘, กรมศิลปากร : กองโบราณคดี (ฝ่ายควบคุมดูแลรักษาโบราณสถาน).

(จำนวนผู้เข้าชม 2489 ครั้ง)

Messenger