เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ตราดินเผามีจารึก “ศรี” และสัญลักษณ์โอม พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
ตราดินเผามีจารึก“ศรี” และสัญลักษณ์โอม
พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราดินเผารูปกลม มีรอยประทับเป็นจารึกตัวอักษรและสัญลักษณ์ขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ ปัจจุบันนักวิชาการมีความเห็นเกี่ยวกับตัวอักษรที่ปรากฏเหมือนกัน ว่าเป็นภาษาสันสกฤต อ่านว่า “ศรี” แต่มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปเรื่องรูปแบบตัวอักษรและการกำหนดอายุว่า เป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) หรือเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) ด้านบนของตัวอักษร มีสัญลักษณ์เป็นขีดสองขีดและมีจุดกลมด้านบน ซึ่งนักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ “โอม”
คำว่า “ศรี” หมายถึง สิริ ดี งาม ประเสริฐ เป็นคำที่มีความเป็นมงคลที่พบประกอบอยู่กับจารึกในสมัยทวารวดีจำนวนมาก ที่สำคัญ เช่น เหรียญเงินมีจารึก “ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” หรือ “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” พบจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม เป็นต้น นอกจากนี้ที่เมืองโบราณอู่ทอง ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาทรงหม้อน้ำ มีจารึกคำว่า “ศรี” บริเวณก้นภาชนะ จากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วน “โอม” เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นมงคลเช่นเดียวกับคำว่า “ศรี”
ตราดินเผาชิ้นนี้ อาจเป็นตราดินเผาที่พ่อค้า นักเดินทาง หรือนักบวชชาวอินเดีย นำติดตัวเข้ามาในดินแดนแถบนี้เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร อาจเกี่ยวข้องกับด้านการค้า การศาสนา หรือเป็นเครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคล หรืออาจเป็นตราดินเผาที่ผลิตขึ้นโดยคนท้องถิ่นสมัยทวารวดี ที่ผลิตตราดินเผาขึ้นใช้เองในท้องถิ่นโดยรับอิทธิพลด้านภาษาและคติความเชื่อเรื่องสัญลักษณ์มงคลจากชาวอินเดียก็เป็นได้
-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔). กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๕๙. เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพ : อรุณการ พิมพ์, ๒๕๕๙. วิภาดา อ่อนวิมล. เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑. อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสต รมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 1198 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน