เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
จารึกปุษยคีรี : ชื่อภูเขาศักดิ์สิทธ์แห่งเมืองอู่ทอง
ศิลาจารึกปุษยคีรี (หนังสือจารึกในประเทศไทย เล่มที่ ๑ เรียกว่า จารึกเขาปุมยะคีรี เลขทะเบียน รบ.๓) พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จารึก ๑ ด้าน ๑ บรรทัด ด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เป็นชื่อเฉพาะ แปลว่า “ปุษยคิริ” (ปุษย หมายถึง ดอกไม้ และ คิริ หมายถึง ภูเขา) พิจารณาจากรูปแบบอักษรสามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ราว ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) นักวิชาการได้ศึกษาและตีความจารึกดังกล่าว มีประเด็นสำคัญในการศึกษา แบ่งเป็น ๓ ประเด็น ดังนี้
๑. คำอ่านและคำแปลจารึก นักวิชาการได้อ่านและแปลจารึกแผ่นนี้เป็น ๒ แนวทาง ได้แก่ อ่านว่า “ปุมฺยคิริ” แปลว่า ปุมยคิริ หรือ เขาปุมยะ และ “ปุษยคิริ” แปลว่า ปุษยคิริ หรือ เขาปุษยะ ทั้งนี้ หากแปลว่า “ปุษยคิริ” น่าจะตรงกับการเทียบเคียงรูปแบบตัวอักษรสมัยหลังปัลลวะ และการแปลความหมายในภาษาสันสกฤตมากกว่า
๒. การตีความชื่อเขาปุษยคีรีกับหลักฐานด้านภูมิศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีในเมืองโบราณอู่ทอง โดยนักวิชาการส่วนใหญ่ตีความว่าชื่อ “ปุษยคีรี” ที่ปรากฏในจารึกดังกล่าว หมายถึงเขาทำเทียม ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งพบโบราณสถานสำคัญในสมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา รวมทั้งมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้คงเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทองมายาวนาน ตั้งแต่สมัยทวารวดี จนถึงสมัยอยุธยา โดยอาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อท้องถิ่นผสมผสานกับความเชื่อที่แพร่หลายเข้ามาจากวัฒนธรรมอินเดีย และอาจเป็นภูเขาที่ใช้เป็นหลักหมาย (landmark) ในการเดินทางของนักเดินทาง
๓. ความสัมพันธ์กับการรับวัฒนธรรมอินเดีย มีผู้เสนอว่า การพบจารึกปุษยคีรีในดินแดนไทย เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียมายังประเทศไทย เนื่องจากมีความพ้องกับชื่อภูเขาศักดิ์สิทธ์ ได้แก่ ปุษฺปคีรี ในรัฐโอริสสา ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๗๐ – ๓๑๑) ทรงสถาปนา และเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะเวลาต่อมา ทั้งนี้ในเมืองโบราณอู่ทองยังไม่พบหลักฐานที่มีอายุเก่าไปถึงช่วงเวลาดังกล่าวที่จะช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม ชื่อเขาปุษยคิริ ในอินเดียคงเป็นชื่อมงคลที่ส่งอิทธิพลมาถึงการเรียกชื่อสถานที่สำคัญในวัฒนธรรมทวารวดี ให้มีความเกี่ยวข้องกับดินแดนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา ก็เป็นได้
จารึกปุษยคีรี จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ ซึ่งสัมพันธ์กับการรับวัฒนธรรมและความเชื่อจากอินเดียในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ภูเขาปุษยคีรีอาจเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่นตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา
---------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
---------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔), กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๕๙. นพชัย แดงดีเลิศ, จารึกทวารวดี : การศึกษาเชิงอักขรวิทยา, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๒. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “ปุษยคิริ : เขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทองที่ถูกลืมเลือน”, วารสารดำรงวิชาการ, ๑๓,๑ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๗), หน้า ๑๓๓ – ๑๕๘.
ที่มาของสำเนาภาพจารึก
กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔), กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๕๙, หน้า ๓๑๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 1756 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน