แนะนำหนังสือออกใหม่ เรื่อง ตู้ลายทอง ภาค ๑ (สมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี)

          ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร ขอแนะนำหนังสือออกใหม่ เรื่อง ตู้ลายทอง ภาค ๑ (สมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี) ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ ตู้ลายทอง คือ ตู้ไทยโบราณที่ใช้เก็บหนังสือและพระคัมภีร์ต่างๆ ภายนอก ลงรักปิดทองประดับตกแต่งเป็นลวดลายอันวิจิตร ด้วยภูมิปัญญาของช่างศิลปะไทย ซึ่งเป็นหนังสือที่เป็นการกลับมาตีพิมพ์ใหม่ในรอบ ๔๐ ปี หนังสือตู้ลายทอง ภาค ๑ (สมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี) เป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ ที่ออกมาใหม่ล่าสุด มีภาพประกอบสี่สีทั้งเล่ม มีเนื้อหาว่าด้วยตู้ลายทองที่เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี ที่อยู่ในความดูแลของสำนักหอสมุดแห่งชาติและสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร มีภาพประกอบ พร้อมทะเบียน ประวัติ รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตู้ อาทิ รูปลักษณะ ขนาด สภาพ ฝีมือช่าง ประวัติ ตลอดถึงเรื่องราวประกอบลวดลายศิลปะไทย รวมถึงให้คำอธิบายส่วนต่าง ๆ สิ่งที่ใช้พิจารณาแบ่งสมัยของศิลปะลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้ลายทองก็คือความอ่อนช้อยของเส้นกนก ดังนี้ สมัยอยุธยา ทำตัวกนกใหญ่และนิยมทำช่อโต แต่เส้นกนกมีความคม ดูอ่อนช้อยและเคลื่อนไหวมาก เถากนกจะเริ่มตจากส่วนใดของตู้ก็ได้ ตัวกนกแตกเถาระยิบระยับและศิลปินมีอิสระในการออกแบบลาย ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับการวางลาย การเขียนลายจึงเป็นไปตามจิตนาการของช่าง จังหวะกนกจึงไม่ซ้ำกัน แต่จะมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก
          สมัยธนบุรี เป็นระยะคาบเกี่ยวยังได้รับอิทธิพลจากช่างฝีมือสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าช่างฝีมือที่เขียนลายรดน้ำในสมัยธนบุรี อาจจะเป็นช่างฝีมือในสมัยอยุธยาสืบมา เพราะฝีมือการเขียนลายไทยในสมัยธนบุรีละม้ายคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา เปลงกนกถึงแม้จะแตกเถาน้อยกว่าสมัยอยุธยา แต่มีความอ่อนช้อยอ่อนไหวมากกว่าเปลวกนกในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างชัดเจน สมัยรัตนโกสินทร์ นิยมทำเถาของกนกยาวจากขอบล่างของตู้พุ่งเถากนกขึ้นไปจรดหรือเกือบจรดขอบบนของตู้ ตัวกนกอ้วนสั้นหรือป้อม มีความอ่อนไหวน้อยลง ช่องว่างระหว่างตัวกนกมีความถี่มาก ทำให้ดูราวกับว่าเส้นกนกอยู่ในกรอบหรือเป็นแผงกนก ซึ่งถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ จึงทำให้ดูค่อนข้างขึงขังและกระด้าง แต่ก็เป็นความงามที่เป็นลักษณะเฉพาะของลายกนกในสมัยรัตนโกสินทร์



          หนังสือตู้ลายทองนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ในแง่ของการใช้งานและความสวยงามแล้ว ลวดลายที่ปรากฏบนตู้ ยังสามารถบ่งบอกได้ถึงพัฒนาการของงานศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความเชื่อ หรือวรรณคดีต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่บนลายของตู้ไทยโบราณ หนังสือเล่มนี้มีจำนวน ๓๒๐ หน้า ปกแข็ง จัดพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ราคา ๘๗๐ บาท
          ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ https://bookshop.finearts.go.th สอบถามเพิ่มเติม facebook ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 2027 ครั้ง)

Messenger