ถ้ำครก - ศิลปกรรมพุทธศาสนาสมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์ในอำเภอสะบ้าย้อย
ถ้ำครกอยู่ไหน? หมู่ที่ ๒ บ้านถ้ำครก ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
ตำนานถ้ำครก กล่าวกันว่าในอดีตชาวบ้านได้อาศัยหลุมบนพื้นถ้ำแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของน้ำตามธรรมชาติ ใช้เป็นครกตำยาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จึงเรียกถ้ำแห่งนี้ว่าถ้ำครก
ลักษณะของถ้ำครก ถ้ำครกมีลักษณะเป็นถ้ำของภูเขาหินปูนขนาดเล็ก โดยตัวถ้ำทะลุจากภูเขาฝั่งหนึ่งไปยังภูเขาอีกด้านหนึ่ง โดยมีความยาวของถ้ำ ๕๒.๖๐ เมตร ปากถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือกว้าง ๑๑ เมตร ส่วนปากถ้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือกว้าง ๘ เมตร
เจดีย์ปูนปั้น ประดิษฐานในบริเวณข้างพระพุทธรูป ชะง่อนหิน และโพรงถ้ำ เจดีย์เหล่านี้และมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีองค์ระฆังเพรียวชะลูดดังที่นิยมกันในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระซึ่งอาจพัฒนามาจากรูปทรงขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
พระพุทธรูป ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่น้อยหลายองค์ บางองค์มีร่องรอยการลงรักปิดทอง ในขณะที่บางองค์มีร่องรอยการตกแต่งด้วยการทาสีแดงชาด นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท รวมถึงยังพบพระสาวกปูนปั้นปรากฏอยู่ด้วย พระพุทธรูปเหล่านี้แสดงอิทธิพลของศิลปกรรมแบบอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ผสมผสานกับศิลปะในท้องถิ่น
ปูนปั้น : พุทธประวัติ เรื่องเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์(ออกบวช) พบบริเวณฐานชุกชีของพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ผนังถ้ำ โดยภาพแบ่งออกเป็นสองตอนคือ ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประทับยืนทอดพระเนตรพระนางพิมพาและเจ้าชายราหุล และตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะมีท้างจตุโลกบาลทั้งสี่ประคองเท้าม้าองค์ละหนึ่งขาเพื่อออกผนวช ส่วนภาพพระอินทร์ที่ประคองปากม้านั้นแตกหักไปเหลือเพียงส่วนปลายของมงกุฏ
ปูนปั้น : พุทธประวัติ ตอนมารวิชัย(ผจญมาร) พบบริเวณฐานชุกชีใหญ่ของพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ภายในถ้ำ ปรากฏภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม จนน้ำในมวยผมพระแม่ธรณีหลั่งไหลออกมาท่วมกองทัพมารจนพ่ายแพ้ไป ทั้งนี้น้ำที่ไหลออกมาจากมวยผมพระแม่ธรณีนั้นก็คือน้ำซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้กรวดน้ำลงบนพื้นดินอุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายเมื่อได้กระทำบุญกุศลในอดีตชาตินั่นเอง
ปูนปั้น : นรกภูมิ พบบริเวณผนังถ้ำใกล้ปากถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเรื่องราวการลงโทษผู้กระทำผิดในนรกเช่นการปีนต้นงิ้ว การตกกระทะทองแดง เปรตชนิดต่างๆเช่นเปรตผู้มีจักรบนหัว
ภาพจิตรกรรม พบบริเวณผนังถ้ำใกล้ปากถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดจากภาพนูนต่ำรูปนรกภูมิ โดยปรากฏภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีขาวและแดง เป็นภาพบุคคลจำนวน ๔ คนนั่งอยู่บนหลังช้าง ใกล้กับต้นไม้ และมีภาพบุคคลกำลังเดินอยู่ ๒ คน ในทิศทางตรงกันข้ามกับการก้าวเดินของช้าง


































----------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา 

(จำนวนผู้เข้าชม 2580 ครั้ง)

Messenger