เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แหล่งภาพเขียนสีเกาะเขาเต่า จังหวัดพังงา
...แหล่งภาพเขียนสีในพื้นที่อ่าวพังงา โดยมากเป็นภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพบทั้งภาพบุคคล สัตว์บก สัตว์น้ำ และรูปเรขาคณิต แต่มีเพียงไม่กี่แหล่งที่ปรากฏภาพคล้ายเรือ ซึ่งใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปมาระหว่างแผ่นดินใหญ่กับท้องทะเลของมนุษย์ในอดีต ภาพเขียนสีที่ “แหล่งภาพเขียนสีเกาะเขาเต่า” นี้เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ปรากฏภาพคล้ายเรือที่ค่อนข้างชัดเจน และเป็นแหล่งที่มีการค้นพบใหม่โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ที่ผ่านมา…
แหล่งภาพเขียนสีเกาะเขาเต่า ตั้งอยู่ที่ ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่บนเกาะซึ่งไม่ปรากฏชื่อในแผนที่ทหาร เป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก ระหว่างคลองกะไหลและคลองกระโสม ด้านทิศใต้ของเกาะสองพี่น้องซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสีถ้ำนาค ห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตร เกาะเขาเต่ามีรูปร่างวงรีวางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้ ขนาดยาวประมาณ ๒๕๐ เมตร กว้าง ๑๒๐ เมตร
การเข้าถึงแหล่ง จากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เดินทางโดยเรือระยะทางประมาณ ๑๓.๕ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๑๕ – ๒๐ นาที โดยผ่านคลองเกาะปันหยี เกาะปันหยี และมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันตก ใช้เส้นทางตัดผ่านเกาะทะลุนอก เพื่อเข้าสู่บริเวณปากคลองกระโสม ใช้เส้นทางลัดเลาะเข้าไปตามคลองขนาดเล็กที่ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน
เมื่อถึงบริเวณเพิงผาและถ้ำขนาดเล็กด้านทิศตะวันออกของเกาะ ต้องปีนขึ้นไปบริเวณเพิงผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓- ๕ เมตร ที่ผนังถ้ำและเพิงผาปรากฏภาพเขียนสีแดง เป็นภาพบุคคล ภาพลายเส้นหยักคล้ายคลื่น ภาพเรือ และมีภาพเขียนสีดำ เป็นภาพสัตว์สี่เท้า ซึ่งเขียนทับบางส่วนของภาพสีแดง นอกจากนี้ยังมีร่องรอยภาพที่ลบเลือนอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
บริเวณที่ปรากฏภาพเขียนสีมีลักษณะเป็นเพิงผาเว้าเข้าไปเป็นคูหาลักษณะคล้ายถ้ำขนาดเล็ก ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร สูง ๖ เมตร ลึก ๕ – ๘ เมตร เพิงผาหันไปทางทิศตะวันออก พื้นเป็นหิน ภายในมีความชื้นสูง ผนังถ้ำมีตะไคร่น้ำจับอยู่ทั่วไป มีร่องรอยภาพเขียนสีแดงและดำแบบเงาทึบและแบบภาพลายเส้นโครงร่าง เป็นภาพลายคลื่น ภาพเรือ ภาพบุคคล ภาพสัตว์สี่เท้า และภาพเรขาคณิต กระจายอยู่บริเวณผนังด้านในและด้านข้าง
ภาพที่เด่นชัดอยู่ส่วนกลางของผนังเพิงผา เป็นกลุ่มภาพเรือและลายเส้นหยักคล้ายคลื่น กลุ่มภาพนี้มีขนาดความกว้างและยาวด้านละประมาณ ๘๐ – ๑๐๐ เซนติเมตร โดยภาพเรือเป็นภาพในมุมมองด้านหน้าตรง เขียนลายเส้นสีแดงเป็นแกนหรือโครงสร้างเรือ และระบายสีทึบด้วยสีดำหรือสีที่เข้มกว่าสีแดงบริเวณตัวเรือและหัวเรือ ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือหัวโทง ที่ยังนิยมใช้กันอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน
ด้านข้างของภาพเรือเป็นลายเส้นหยักคล้ายคลื่น ซ้อนกันในแนวนอน ๕ เส้น ที่อาจสื่อถึงการใช้เรือเดินทางในทะเล ใกล้กันห่างออกไปทางขวาประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร ตำแหน่งภาพสูงจากพื้น ๘๐ เซนติเมตร มีภาพสัตว์สี่เท้าคล้ายช้างเขียนด้วยลายเส้นสีดำทับร่องรอยภาพสีแดง ขนาดกว้าง ๑๘ เซนติเมตร สูง ๑๑ เซนติเมตร ถัดไปทางขวาเล็กน้อยมีภาพโครงร่างแบบคร่าวๆ เขียนด้วยสีแดงคล้ายบุคคลและเรขาคณิต ///ผนังอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือ มีกลุ่มภาพเขียนสีดำเป็นภาพบุคคลแสดงท่าทางต่างๆ เช่น ยืนกางแขน แสดงท่าทางเคลื่อนไหว และกลุ่มภาพคล้ายสัตว์อยู่ด้านซ้าย ส่วนด้านขวาเป็นภาพบุคคลหรือลิงชูแขนลักษณะห้อยโหนอยู่ด้านล่างของภาพสัตว์สี่เท้าคล้ายช้าง ซึ่งกลุ่มภาพสีดำนี้เขียนทับไปบนภาพส่วนใหญ่ของภาพร่องรอยบุคคลสีแดงแบบเงาทึบขนาดใหญ่ โดยบุคคลทางซ้ายอยู่ในลักษณะยืนตรง มีเส้นผมที่ศีรษะ ส่วนบุคคลทางขวายืนหรือนั่งหันข้างมองออกไปทางด้านขวาหรือด้านหน้าของเพิงผา กลุ่มภาพนี้มีขนาดความกว้างและยาวด้านละประมาณ ๑๐๐ – ๑๒๐ เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีร่องรอยภาพสีแดงที่ค่อนข้างลบเลือน เป็นภาพลายเส้นและภาพเรขาคณิต กระจายตัวอยู่ทั่วไปบนผนังอีกหลายจุด
แหล่งภาพเขียนสีเกาะเขาเต่า มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสองสายคือคลองกระโสมและคลองกะไหล ที่ไหลมาบรรจบกันเพื่อใช้เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลได้ สภาพพื้นที่เป็นเพิงผาและถ้ำขนาดเล็ก มนุษย์ในอดีตจึงสามารถใช้เพิงผาและถ้ำเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว สามารถประกอบกิจกรรม หรือพิธีกรรมซึ่งอาจมีการขีดเขียนวาดภาพบนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
กลุ่มภาพสีแดงและสีดำที่ปรากฏบนผนังเพิงผาและถ้ำ สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มภาพเล่าเรื่องแสดงเหตุการณ์หรือบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยมีภาพที่สำคัญเป็นภาพเรือและลายเส้นคลื่นที่สามารถสื่อได้อย่างชัดเจนในเรื่องการเดินทางในท้องทะเลที่อาจมีคลื่นลมแรง จนผู้เขียนอาจต้องแวะเข้ามาเพื่อหลบคลื่นลมและแวะพักก่อนเดินทางต่อไป และยังมีภาพบุคคลสีแดงขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณผนังอีกด้านหนึ่ง แสดงท่าทางยืนและตรงและหันข้าง ที่อาจสื่อถึงบุคคลที่ร่วมเดินทางมากำลังรอคอยเพื่อจะเดินทางต่อไป
ส่วนกลุ่มภาพลายเส้นสีดำที่ปรากฏส่วนใหญ่เขียนทับบนกลุ่มภาพสีแดง ในระดับความสูงที่ต่ำกว่าหรือมีระดับใกล้เคียงกลุ่มภาพสีแดง ภาพลายเส้นสีดำเขียนแบบง่ายๆ อาจสื่อถึงเหตุการณ์หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณอื่นหรือบนแผ่นดินใหญ่ ผู้เขียนจึงเขียนถ่ายเรื่องราวที่พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์การระหว่างสัตว์สี่เท้ากับบุคคล โดยกลุ่มภาพบุคคลมีการแสดงท่าทางต่างๆ ทั้งยืนตรง กางแขน ชูแขน และกำลังเคลื่อนไหวอยู่ แสดงกิจกรรมบางอย่างที่ร่วมกันระหว่างบุคคลและสัตว์ ซึ่งอาจสื่อถึงการเลี้ยงสัตว์หรือกำลังต้อนสัตว์เหล่านั้นอยู่ กลุ่มภาพเขียนสีดำนี้เขียนขึ้นภายหลังกลุ่มภาพสีแดง ซึ่งอาจเขียนขึ้นในสมัยหลังหรืออาจเขียนขึ้นในสมัยปัจจุบันที่มีการเขียนเลียนแบบภาพสีแดงโดยบุคคลที่แวะเวียนมาใช้เพิงผาและถ้ำที่เกาะเขาเต่าก็เป็นได้
...หมู่เกาะน้อยใหญ่ในพื้นที่อ่าวพังงา นอกจากมีความสวยงามตามธรรมชาติที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานแล้ว ยังมีเกาะอยู่อีกจำนวนมากที่อาจมีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีแหล่งใหม่ๆ ซึ่งจะสะท้อนให้เราเห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย...
----------------------------------------------------------------------
สำรวจ/เรียบเรียง/กราฟิก : ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
----------------------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 2227 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน