เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง"อิสรภาพที่แท้จริงของชาวเมืองตราด"
จากประวัติศาสตร์ไทยในเรื่องเหตุการณ์ ร.ศ.112 ที่ท่านผู้อ่านทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไทยเรามีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส จนถึงขนาดยึดเมืองสำคัญหลายเมืองเป็นประกันเพื่อให้ไทยมอบดินแดนที่ต้องการ ในจำนวนเมืองชายทะเลตะวันออกที่ฝรั่งเศสได้ยึดเป็นเมืองประกัน ได้แก่เมืองจันทบุรีในคราวแรก และเมื่อคืนจันทบุรีแล้วก็ไปยึดตราดต่อถึงเกือบ 3 ปี(22 มกราคม 2447- 23 มีนาคม 2449)
ผู้เขียนพบเอกสารจดหมายเหตุที่พระยาวิชาธิบดี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี กราบทูลรายงาน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรื่องการรับมอบเมืองตราด และการฉลองเมืองตราด ในวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2450 ในการรับมอบเมืองตราดคืนในครั้งนี้ ตัวแทนของฝรั่งเศสคือ มองสิเออร์รุซโซ เรสิดังของเมืองกำปอด และตัวแทนฝ่ายไทยคือ พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลอง
วันที่ 6 กรกฎาคม เป็นวันรับมอบเมืองตราด ผู้แทนทั้งสองฝ่ายพร้อมคณะพร้อมกัน ณ บริเวณเสาธงที่ว่าการเมืองตราดหลังเก่า มองสิเออร์รุซโซได้อ่านคำมอบเมืองและให้ล่ามแปลเป็นภาษาไทย และพระยาศรีสหเทพได้อ่านตอบและมิสเตอร์รอบินเป็นผู้แปล ต่อจากนั้นพระยาศรีสหเทพได้ชักธงราชธวัชขึ้นสู่ยอดเสา เหล่าทหารและตำรวจทำวันทยาวุธ พร้อมเป่าแตรเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารและตำรวจบนเรือมกุฎราชกุมาร ที่จอดหน้าเกาะช้างยิงสลุด เป็นจบพิธีแบบเรียบง่ายในวันแรก เป็นที่น่าสังเกตุว่า...เสาธงเป็นเสาเปล่า ไม่มีการชักแลกเปลี่ยนเหมือนในครั้งแรกที่ส่งมอบเมือง...ซึ่งหลวงสาครคชเขตต์ ได้บันทึกในจดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรีในส่วนเมืองตราดว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของฝ่ายไทยไม่ให้ต้องขมขื่นต่อกัน กระทรวงมหาดไทยจึงให้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติ
วันที่ 7 กรกฎาคม เว้นไป 1 วัน เนื่องจากพระยาศรีสหเทพ ประธานในพิธีป่วย
วันที่ 8 กรกฎาคม เป็นวันฉลองเมือง จัดพิธีบริเวณรอบเสาธง ในช่วงบ่าย 4 โมงเป็นต้นไป โดยเริ่มพิธีสงฆ์ อาราธนาพระสงฆ์ในเมืองตราด จำนวนเท่าพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประธานฝ่ายสงฆ์คือพระครูสังฆปาโมก เจ้าคณะเมืองจันทบุรี (เจ้าอาวาสวัดเขาพลอยแหวน : ผู้เขียน) หลังจากเสร็จพิธีสงฆ์ เวลาทุ่มตรงมีดินเนอร์ ณ ที่ว่าการเมืองตราดเก่า มีทั้งข้าราชการฝ่ายไทยและฝรั่งเศส พร้อมทั้งมีการจุดประทีปโคมไฟและมีมหรสพบรรเลง
วันที่ 9 กรกฎาคม ราษฎรเมืองตราดร่วมถวายภัตตาหารเช้าพระสงฆ์ที่ร่วมในพิธีเมื่อวาน เมื่อถึงเวลาบ่ายได้จัดพิธีแสดงความจงรักภักดี พระสงฆ์สวดถวายไชยมงคล ชักธงราชวัตรขึ้นสู่ยอดเสา ยิงสลุด แล้วอ่านคำถวายไชยมงคลต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส แล้วเดินเรียงแถวถวายความเคารพทั้งในส่วนราษฎรและข้าราชการ เป็นอันเสร็จพิธีและค่ำนี้มีมหรสพและจุดประทีปโคมไฟอีก 1 คืน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลังจากทำสัญญาคืนดินแดนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2449 แล้วก็จริง แต่ความเป็นไทของชาวเมืองตราดยังไม่เกิดอย่างแท้จริง เพราะยังมีทหารฝรั่งเศสอยู่ร่วมเมืองด้วยบางส่วน จวบจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2450 ทหารลงเรือกลับออกไป นั่นคือ"อิสรภาพที่แท้จริงของชาวเมืองตราด"
-----------------------------------------------------------------
ผู้เขียน สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
-----------------------------------------------------------------
อ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี (13)มท 2.1/186 เรื่อง หลวงนาถนรารักษ์ เสมียนตรามณฑลขอต่ออายุราชการให้ติดต่อกัน(26 กันยายน 2472- 5 กันยายน 2473)
(จำนวนผู้เข้าชม 1955 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน