เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปคชลักษมี สูงประมาณ ๘ เซนติเมตร ตรงกลางเป็นรูปพระลักษมี เกล้าพระเกศา พระพักตร์กลม พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา แย้มพระสรวล ทรงกุณฑลทรงกลมและกรองศอ พระหัตถ์ทั้งสองทรงถือก้านดอกบัวตูมยกขึ้นในระดับพระอุระ นั่งขัดสมาธิราบ มีช้างขนาบสองข้าง ส่วนศีรษะช้างหักหายไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปช้างชูงวงถือหม้อน้ำเพื่อรดน้ำอภิเษกพระลักษมี รองรับด้วยฐานทรงกลมตกแต่งด้วยลายกลีบบัว กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) สันนิษฐานว่า อาจใช้เป็นฝาจุกภาชนะ หรือประดิษฐานเพื่อการเคารพบูชา หรือใช้เป็นเครื่องรางสำหรับติดตัวพ่อค้าหรือนักเดินทาง
คชลักษมีเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ มีที่มาจากคติการบูชาเพศหญิงซึ่งเป็นเพศผู้ให้กำเนิด ส่วนช้างเป็นสัตว์มงคลและเป็นสัญลักษณ์ของเมฆฝน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พืชพันธุ์เจริญงอกงาม คชลักษมีจึงเป็นสัญลักษณ์มงคลที่ปรากฏทั้งในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “มายาเทวี” หมายถึงพุทธประวัติตอนประสูติของพระพุทธเจ้า ส่วนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียกว่า “คชลักษมี” หมายถึงการรดน้ำอภิเษกแก่พระลักษมีซึ่งเป็นชายาของพระวิษณุ
นอกจากประติมากรรมคชลักษมีชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปคชลักษมีรูปแบบอื่นๆ ในเมืองโบราณสมัยทวารวดี เช่น แผ่นดินเผารูปคชลักษมีสำหรับการเจิมในการทำพิธีการทางศาสนาของพราหมณ์ และคชลักษมีประดับที่ส่วนล่างของธรรมจักร พบที่เมืองนครปฐมโบราณ เครื่องรางดินเผารูปคชลักษมีและท้าวกุเวร ซึ่งอาจใช้เป็นเครื่องรางสำหรับพกติดตัวของพ่อค้าหรือนักเดินทาง พบที่เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี เป็นต้น โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในสมัยทวารวดี คชลักษมี เป็นรูปเคารพตามความเชื่อในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู โดยมีความหมายร่วมกันคือ ความมีโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงอาจถูกใช้เป็นเครื่องรางด้วย
------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. รูปแบบและความเชื่อของงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศรี-ลักษมีที่พบใน ประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 2475 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน