แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีอ่าวบุญคง
          แหล่งโบราณคดีที่เป็นแหล่งภาพเขียนสีอีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดตรัง คือ แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีอ่าวบุญคง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่พบร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีตหลายยุคสมัยด้วยกัน แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีอ่าวบุญคง ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๓ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
ประวัติและความสำคัญ
           ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาหินปูนภายในอ่าวบุญคง มีลักษณะเป็นอ่าวปิด ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง การเดินทางจึงต้องใช้เรือหรือเดินตัดผ่านป่าชายเลนเข้าไป แหล่งโบราณคดีมีลักษณะเป็นเพิงผา และโพรงถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลตามธรรมชาติ ภายในมีคูหาแบ่งเป็นหลายห้องทะลุถึงกันได้ บริเวณจุดที่พบภาพเขียนสีจะอยู่ด้านหน้าของโพรงถ้ำห่างจากปากถ้ำไปทางทิศเหนือประมาณ ๕ เมตร ตัวภาพสูงจากระดับน้ำทะเล ๒ เมตร ส่วนโพรงถ้ำที่พบหลักฐานทางโบราณคดีจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑ เมตร ตัวเพดานโพรงถ้ำมีขนาดสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร จากการศึกษาพบหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์
สิ่งสำคัญทางโบราณคดี
          ๑. ภาพเขียนสี ตั้งอยู่บริเวณเพิงผาด้านหน้าโพรงถ้ำ เขียนลายเส้นสีแดง ใช้เทคนิคการเขียนโครงเส้น และระบายสีทึบด้านในเป็นบางส่วน ภาพมีลักษณะคล้ายรูปปลา สัตว์ทะเล บุคคล และลายเรขาคณิต บางส่วนลบเลือนเนื่องจากมีคราบหินปูนเคลือบทับไว้ ตัวภาพมีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีเขาแบนะในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ห่างไปจากแหล่งโบราณคดีประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ผลจากการศึกษาค่าอายุโดยการเปรียบเทียบรูปแบบกับกลุ่มภาพเขียนสีที่อ่าวพังงา จังหวัดพังงา และอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ กำหนดอายุภาพเขียนสีอ่าวบุญคงราว ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
          ๒. หลักฐานทางโบราณคดีในโพรงถ้ำอ่าวบุญคง พบหลักฐานบริเวณพื้นถ้ำ ได้แก่ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน และชิ้นส่วนตลับเคลือบใสสีขาว สมัยราชวงศ์ซุ่งใต้อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน เปลือกหอยทากบก (หอยหอม) และ เปลือกหอยทะเล เช่น หอยสังข์กระโดด (หอยชักตีน) หอยแครง แหวนพลอยสีชมพู ตัวเรือนทำจากโลหะเคลือบสีทองเป็นแหวนสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้น
          จากลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีสันนิษฐานว่าคนโบราณได้มาใช้พื้นที่บริเวณอ่าวบุญคงสำหรับจอดพักเรือระหว่างการเดินทาง หรือใช้หลบกระแสคลื่นลมและใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยปัจจุบัน
          อายุสมัย ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยุคประวัติศาสตร์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙ และสมัยรัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕














ที่มาของข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา

(จำนวนผู้เข้าชม 4591 ครั้ง)

Messenger