“ไหลาว”ภาชนะรูปแบบเด่นที่พบในภูมิภาคอีสานใต้
          ไหลาว ภาชนะรูปแบบเด่นที่พบในภูมิภาคอีสานใต้ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีแหล่งผลิตในภูมิภาคอีสานใต้ แต่จากการขุดศึกษาโบราณสถานพระธาตุกุดจอด ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-24 และธาตุลาวอีกหลายแห่ง เราพบไหลาว ซึ่งมีรูปแบบภาชนะที่โดดเด่นด้วยเช่นกัน
          ไหลาว เป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งในกลุ่มวัฒนธรรมล้านช้าง ที่มักจะสร้างความสับสนให้กับนักโบราณคดีมือใหม่ที่มักจะตีความว่าเป็นไหเขมร เนื่องจากมีลักษณะสีน้ำเคลือบที่ใกล้เคียงกันและมักพบในแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกัน
          ภาชนะแบบนี้มีแหล่งผลิตอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำสงคราม ในพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม และกลุ่มเตาในกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เทคนิคการผลิตในแต่ละกลุ่มเตาค่อนข้างจะเหมือนกัน แตกต่างที่การทำสีเคลือบ ภาชนะแบบไหที่เป็นรูปแบบที่พบมากจากลุ่มเตาลุ่มแม่น้ำสงคราม ทำเป็นภาชนะขนาดใหญ่ทรงสูง ขอบปากสูง มีส่วนคอแคบ ส่วนลำตัวป่องออก แล้วเรียวลงสู่ฐานที่แคบและไม่มีเชิง มีทั้งรูปทรงที่ส่วนคอสั้น และส่วนคอจนถึงขอบปาก สูง รัศมีขอบปากมีทั้งที่แคบกว่าและใกล้เคียงเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัวของภาชนะเคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาลที่อาจมีโทนสีต่างกันไปบ้างในแต่ละแห่งและแบบไม่เคลือบ เนื้อภาชนะมีสีเทา มีการตกแต่งบริเวณไหล่ ด้วยหูหลอก หรือที่เรียกว่า “จีบแปะ”, ลวดลายขด, ลวดลายต่าง ๆ ด้วยเทคนิคอื่น ๆ อีกหลายแบบ
          สีของน้ำเคลือบภาชนะจากกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงคราม พบเพียงสีเดียวคือ สีน้ำตาล ในแต่ละกุล่มเตามีลักษณะเฉพาะของสีน้ำเคลือบต่างกันไป เช่น สีน้ำตาลอ่อน, สีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลไหม้, สีน้ำตาลอมแดง, สีน้ำตาลอมเขียว การทำเคลือบสีน้ำตาล น่าจะเป็นเพราะ การใช้สารประกอบออกไซด์ของเหล็กหรือตะกรันเหล็กหาได้ง่าย และเทคนิควิธีการเคลือบไม่ยุ่งยากซับซ้อน เหมาะที่จะใช้สำหรับภาชนะขนาดใหญ่ การเคลือบไห มักจะเคลือบเฉพาะด้านนอกจนถึงขอบปากด้านใน น้ำเคลือบไหลหยดเป็นทางและเกาะตัวกับผิวภาชนะได้ไม่ดี, ส่วนชามจะเคลือบเฉพาะด้านใน ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับเครื่องถ้วยกลุ่มล้านนา-สุโขทัย มากกว่าเครื่องถ้วยเขมร
          ผลิตภัณฑ์จากแม่น้ำสงคราม ส่วนใหญ่ ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย เป็นภาชนะที่มีค่า สำหรับใส่กระดูกแล้วฝัง ในชุมชนที่พบภาชนะใส่กระดูกลักษณะนี้ จึงเป็นชุมชนที่ร่วมสมัยกับระยะที่อาณาจักรลาวเข้มแข็ง ในพุทธศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งสามารถดูการกระจายตัวของชุมชนในระยะนี้ได้จาก การกระจายตัวของวัฒนธรรมไหใส่กระดูก ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากเตาลุ่มน้ำสงคราม และพบแพร่กระจายในกลุ่มชนที่รับวัฒนธรรมล้านช้าง ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้วย
          การที่น้ำเคลือบเกาะผิวไม่ดีจึงมักหลุดล่อนได้ง่าย มีไม่สม่ำเสมอ และมีหยดน้ำเคลือบปรากฏให้เห็นอยู่เสมอก็พอทำให้สามารถแยกไหลาวออกจากไหเขมรได้ นอกจากนี้เนื้อดินของไหเขมรมักจะมีเม็ดกรวดเล็กๆปนอยู่เสมอแต่ไหลาวมักจะมีเนื้อดินเนียนละเอียดกว่า นอกจากไหแล้ว กลุ่มเตาในวัฒนธรรมล้านช้างยังผลิตภาชนะเคลือบสีเขียวขนาดเล็ก จำพวก ถ้วย-ชาม , กล้องยาสูบดินเผา, ตุ้มถ่วงแห ฯลฯ ชาม กระปุก อีกด้วย










------------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
------------------------------------------------------------
แหล่งอ้างอิงข้อมูล สำนักงานศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานพระธาตุกุดจอก บ้านยางน้อย ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ. นครราชสีมา: สำนักงานศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา. 2546. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และคณะ. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โอสถสภา. 2539. น.77-79.

(จำนวนผู้เข้าชม 1861 ครั้ง)

Messenger