พระพุทธรูปปางสมาธิ พบจากโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง
          พระพุทธรูปปางสมาธิ พบจากโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
          พระพุทธรูปปางสมาธิสำริด พระรัศมีเป็นลูกแก้ว อุษณีษะเป็นกะเปาะสูง เม็ดพระศกใหญ่ พระกรรณยาว พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระศอเป็นปล้อง ครองจีวรเรียบห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา จีวรบางแนบพระวรกาย ชายสังฆาฏิซ้อนบนพระอังสาซ้ายปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ เห็นขอบสบงเป็นเส้นโค้งบริเวณบั้นพระองค์ พระหัตถ์ซ้ายวางทับพระหัตถ์ขวาประสานกันบนพระเพลาในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบ โดยพระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย เห็นฝ่าพระบาทขวา ปรากฏชายผ้าพับซ้อนด้านหน้าพระเพลาใต้ข้อพระบาทขวา
          พระพุทธรูปปางสมาธิองค์นี้ มีรูปแบบของชายสังฆาฏิที่ซ้อนบนพระอังสาซ้าย และชายผ้าพับซ้อนด้านหน้าพระเพลา คล้ายคลึงกันกับที่ปรากฏบนพระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ซึ่งขุดพบจากโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ แห่งนี้ และโบราณสถานแห่งอื่น ๆ ในเมืองโบราณอู่ทอง ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข ๕ และโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ทั้งนี้ลักษณะชายผ้าที่ห้อยลงมาด้านหน้าพระเพลา อาจคลี่คลายมาจากชายผ้าของพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะอินเดียแบบปาละ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ หรือประมาณ ๙๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) โดยถือเป็นรูปแบบเฉพาะ ที่นิยมและปรากฏในพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง
          พระพุทธรูปปางสมาธิองค์นี้พบร่วมกับโบราณวัตถุอื่น ๆ ได้แก่ ภาชนะดินเผา แผ่นตะกั่วรูปพระโพธิสัตว์ แผ่นตะกั่วรูปสตรี พระพิมพ์ดินเผาปิดทองคำเปลว และพระพิมพ์ดินเผามีจารึกระบุนามผู้สร้าง ซึ่งสามารถกำหนดอายุจากจารึกและรูปแบบศิลปกรรมได้ว่า มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ดังนั้นพระพุทธรูปปางสมาธิองค์นี้จึงควรกำหนดอายุในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบปาละดังที่กล่าวถึงข้างต้น

--------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี
--------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
ปรัชญา รุ่งแสงทอง. ผลการขุดแต่งโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ กับการตอบคำถามเรื่อง “หินตั้ง”ที่ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พุหางนาคและคอกช้างดินร่องรอยพุทธและพราหมณ์บนเขา ศักดิ์สิทธิ์. สมุทรสาคร:บางกอกอินเฮ้าส์, ๒๕๖๑. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พระพุทธรูปและพระพิมพ์ทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วิทยานิพนธ์ปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 1481 ครั้ง)

Messenger