พระเจ้าไม้เมืองน่าน
---เรื่อง “พระเจ้าไม้เมืองน่าน”
---พระเจ้าไม้ คำว่า “พระเจ้า” เป็นคำที่คนในดินแดนล้านนาเรียกขาน แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปฏิมากร (พระพุทธรูป) อันเป็นรูปสัญลักษณ์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระเจ้าที่สร้างด้วยวัสดุใดก็จะเติมชื่อวัสดุนั้นพ่วงท้าย เช่น พระเจ้าที่สร้างด้วยไม้ก็เรียกพระเจ้าไม้ พระเจ้าทีสร้างด้วยโลหะก็เรียกตามโลหะนั้นๆ เช่น พระเจ้าตอง พระเจ้าทองทิพย์ เป็นต้น นอกจากนี้คำว่าพระเจ้ายังหมายความถึงกษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองนครได้อีกด้วย พระพุทธรูปไม้พบทั้งขนาดเล็ก จนไปถึงขนาดใหญ่หลายเมตร ส่วนคำว่า “พระเจ้าไม้เมืองน่าน” นั้นหมายถึงพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้ที่พบในดินแดนเมืองน่าน หรือจังหวัดน่านในปัจจุบัน
---จากการสำรวจในจังหวัดน่านพบพระเจ้าไม้ที่มีความเก่าแก่ที่สุดจากการอ่านจารึกที่ปรากฏบนพระเจ้าไม้ คือ ปี จ.ศ. ๑๐๖๖ หรือปี พ.ศ. ๒๒๔๗ พบที่วัดคัวะ หรือวัดพุ่มมาลา ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ทั้งนี้พระพุทธรูปบางองค์ไม่ปรากฏจารึกทำให้ไม่ทราบอายุที่แน่ชัด และไม้เป็นวัสดุที่มีความเสื่อมสลายได้ง่าย ทำให้พระเจ้าไม้ผุพัง และสูญหายไปตามกาลเวลา
---การสร้างพระพุทธรูปด้วยโลหะนั้นจำเป็นต้องใช้กำลังคน ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก วัตถุดิบ และกรรมวิธีในการหล่อมีความซับซ้อน และต้องอาศัยประสบการณ์ความชำนาญ ซึ่งต่างจากพระพุทธรูปไม้ที่วัสดุหาง่าย และวิธีการทำมีความง่ายกว่า ทั้งไม้เป็นทรัพยากรที่พบมากในท้องถิ่น จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ ทำให้พระพุทธรูปไม้จึงมีความหลากหลายตามสกุลช่าง และฝีมือเชิงช่าง มีลักษณะรูปแบบที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว การสร้างพระพุทธรูปไม้สามารถทำได้ทุกชนชั้นตั้งแต่ชนชั้นปกครอง กษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ชาวบ้าน ตลอดจนพระสงฆ์ อาจทำเป็นหมู่คณะ หรือส่วนบุคคลก็ได้ สามารถสร้างด้วยตนเอง หรือจ้างช่าง (สล่า) เป็นผู้สร้างให้
---อานิสงส์สร้างพระพุทธรูปไม้ อานิสงส์ คือ ผลแห่งกุศลกรรม หรือผลบุญ หรือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการได้ทำบุญ หรือที่ได้สร้างประโยชน์ไว้ จากคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวล้านนาโดยเฉพาะเรื่องบุญกรรม โดยความเชื่อบางอย่างระบุว่าแม้กระทำดีแบบเดียวกันแต่รายละเอียดต่างกัน ผลบุญนั้นก็จะแตกต่างกัน ทั้งนี้การสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุที่แตกต่างกันอานิสงส์ก็จะแตกต่างกันด้วย โดยจากคัมภีร์ใบลานอานิสงส์ฉบับวัดควรค้าม้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “...ผู้ใดสร้างพระพุทธรูป...สร้างด้วยไม้ ได้อานิสงส์นาน ๒๐ กัป...และสร้างด้วยไม้ศรีมหาโพธิ์ ไม้แก่นจันทน์ ก็จะได้รับอานิสงส์นานเป็นอนันต์หากำหนดไม่ได้...”
---ไม้ที่นำมาสร้างพระเจ้าไม้ ไม้ที่นำมาสลักมักเป็นไม้ที่มีเนื้อไม้เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่เหนียวแข็ง หรือไม่เปราะเกินไป นำมาแกะสลักได้ง่าย นิยมนำส่วนแก่นไม้มาสลัก เนื่องจากแก่นของไม้จะไม่บิดงอ หรือแตกหักได้ง่าย และมีความคงทน นอกจากชนิดของเนื้อแล้ว ยังเป็นไม้ที่มีนาม หรือชื่ออันมงคล ไม่มีลักษณะอันอัปมงคล ไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น ต้นไม้ที่ประทับตรัสรู้ของอดีตพุทธ ปัจจุบันพุทธ และอนาคตพุทธ หรือที่เรียกว่า “โพธิ์พฤกษ์ หรือต้นโพธิ์” ไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ เป็นต้น ซึ่งก่อนการตัดไม้จะต้องมีพิธีกรรมการขอขมาด้วยเครื่องสังเวยบูชาแก่เทวดาอารักษ์ที่รักษาต้นไม้ และดูฤกษ์ยาม สถานที่ก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
---เทคนิคการสร้าง และประดับตกแต่งพระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปไม้พบทั้งที่สลักจากไม้ท่อนเดียว สลักจากไม้สองชิ้น คือชิ้นหนึ่งเป็นส่วนฐาน อีกชิ้นเป็นพระวรกาย และสลักจากไม้หลายชิ้น แล้วนำมาประกอบกัน โดยใช้สลักเป็นตัวเชื่อม (แสว้) ทั้งนี้จะต้องมีมาตรวัดให้ได้พุทธสรีระที่สมส่วน งดงาม นอกจากนี้การสร้างพระพุทธรูปจะต้องมีขั้นตอน และพิธีกรรมประกอบ อาทิ การดูฤกษ์ยามเลือกวัน เดือนที่เป็นมงคล เพื่อความสุขความร่มเย็น ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรค เภทภัยต่างๆ ทั้งแก่เจ้าศรัทธา และช่างผู้สร้าง
---ขั้นตอนที่ ๑ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ / เตรียมไม้ / กำหนดรูปแบบ ขั้นตอนที่ ๒ ร่างแบบองค์พระลงบนกระดาษแล้วจึงคัดลอกลงบนเนื้อไม้ ขั้นตอนที่ ๓ การโกลนไม้ขึ้นรูปองค์พระ ขั้นตอนที่ ๔ แกะรายละเอียดช่วงลำตัวให้ชัดเจน ขั้นตอนที่ ๕ แกะส่วนเศียรองค์พระ ขั้นตอนที่ ๖ เก็บรายละเอียด ขั้นตอนที่ ๗ การตกแต่ง ขั้นตอนที่ ๘ การถวายพระเจ้าไม้ไว้ในบวรพระพุทธศาสนา
---เจตนาในการสร้าง วัตถุประสงค์ และคำปรารถนาของผู้สร้าง สามารถทราบได้จากคำจารึกที่ปรากฏบนพระเจ้าไม้ มีดังต่อไปนี้ พระพุทธรูปเป็นที่เคารพสักการะแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายเพื่อทำบุญ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ถวายเพื่อร่วมฉลองถาวรวัตถุ ณ วัดใดวัดหนึ่ง หรืองานประเพณี งานเฉลิมฉลอง ถวายเพื่อสืบชะตาของผู้สร้าง ถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศล (ทักขิโณทการ) แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ถวายเมื่อครั้งบรรพชา อุปสมบท ถวายเพื่อแก้บน เป็นต้น
----เจตนาในการสร้าง และคำปรารถนาของผู้สร้างพระเจ้าไม้ ปรารถนาให้สัมฤทธิ์ผลตามความต้องการ สมความปรารถนาทุกประการ เมื่อเสียชีวิตปรารถนาเกิดในสวรรค์ พ้นจากอบายทั้ง ๔ ปรารถนาสุข ๓ ประการ ปรารถนาเกิดในยุคอนาคตพุทธเจ้า ปรารถนามรรคผล และปรารถนานิพพาน เป็นต้น
---เอกสารอ้างอิง
ภูเดช แสนสา. “พบพระเจ้าไม้เก่าที่สุดในล้านนาอายุกว่า ๓๐๐ ปี ที่วัดคัวะ เมืองน่าน”. เข้าถึงได้โดย https://lek-prapai.org/home/view.php?id=661
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. “พระเจ้าไม้ล้านนา”. เชียงใหม่ : สีสันพรรณไม้. ๒๕๕๔.
ศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์. “คติการสร้างพระพุทธรูปไม้ในล้านนา”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๔.
สมเจตน์ วิมลเกษม และคณะ. “กรรมวิธีดั้งเดิมในการผลิตงานช่างพุทธศิลป์น่าน”. เชียงใหม่ : สันติภาพแพ็คพรินท์. ๒๕๕๑.
สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. “เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ”. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๓๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 4823 ครั้ง)