เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง
โบราณสถานวัดกรุสี่ห้องตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือของเมืองกำแพงเพชรหรือเขตอรัญญิก โบราณสถานที่พบในส่วนใหญ่วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก และสร้างจากศิลาแลงที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่พบได้ในพื้นที่ โดยกลุ่มโบราณสถานแบ่งได้ ๒ ส่วน คือ
๑. เขตพุทธาวาส พบโบราณสถานหลัก ได้แก่ วิหารโถงขนาด ๗ ห้อง อยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด ตั้งอยู่บนฐานสูง มีลักษณะพิเศษคือการพบร่องรอยการใช้แผ่นหินชนวนปูบนพื้นของวิหาร ด้านทิศตะวันออกของวิหารพบกลุ่มเจดีย์จำนวน ๗ องค์ เรียงตัวกันในแนวทิศตะวันออก–ตะวันตก ซึ่งกลุ่มเจดีย์ดังกล่าวมีรูปแบบสถาปัตยกรรมและขนาดของฐานเจดีย์มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละองค์ เจดีย์บางองค์สามารถสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าเป็นเจดีย์ที่มีชุดรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยมที่จัดว่าเป็นรูปแบบสกุลช่างกำแพงเพชรที่ปรากฏในเมืองกำแพงเพชร เช่น เจดีย์ประธานวัดพระนอน เจดีย์ประธานวัดพระธาตุ เจดีย์ประธานวัดป่าแฝก โดยโบราณสถานหลักทั้งสองมีกำแพงแก้วล้อมรอบแสดงเขตพุทธาวาสอย่างชัดเจน แต่แนวกำแพงแก้วที่พบได้แบ่งโบราณสถานทั้งสองออกจากกัน ไม่ได้ล้อมรอบวิหารและกลุ่มเจดีย์ให้เป็นพื้นที่หนึ่งเดียวกัน ซึ่งลักษณะการวางแผนผังที่วัดกรุสี่ห้องมีความแตกต่างจากโบราณสถานทั่วไปในเมืองกำแพงเพชร
๒. เขตสังฆาวาส ส่วนสิ่งก่อสร้างในเขตสังฆาวาสตั้งกระจายตัวอยู่ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกหรือบริเวณโดยรอบของโบราณสถานหลักทั้งสอง ประกอบด้วย กุฏิและศาลารวม ๑๐ หลัง วัจจกุฎีหรือห้องส้วม (นับรวมที่พบภายในกุฏิ) จำนวน ๑๐ แห่ง บ่อน้ำ ๔ แห่ง
นอกจากนี้พื้นที่ส่วนทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดยังร่องรอยการตัดศิลาแลง เพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างวัด ในบริเวณเดียวกันนี้ยังพบบ่อน้ำขนาดใหญ่รูปแบบเดียวกับบ่อน้ำหน้าวัดอาวาสใหญ่แต่มีขนาดเล็กกว่า ในท้องถิ่นเรียกบ่อน้ำดังกล่าวว่า “บ่อสามหมื่น” เป็นการขุดตัดลงไปในชั้นศิลาแลงที่มีความลึกถึง ๕.๕ เมตร มีความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๑ เมตร และด้านทิศตะวันออกสุดของวัดปรากฏเจดีย์รายจำนวน ๒ องค์ พร้อมกำแพงแก้ว
จากการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ พบโบราณวัตถุสำคัญหลายประการ เช่น เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมจากเครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑–๒๑๘๗) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบพระพุทธรูปสำริด ที่มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๑) แสดงอิริยาบถลีลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย โดยเชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถลีลาน่าจะมีที่มาจากพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังที่พบหลักฐานเป็นงานปูนปั้นที่วัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย และปรากฏบนศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ เมืองสุโขทัย (พ.ศ.๑๙๖๐) ที่มีข้อความเกี่ยวกับการสร้าง “พระเจ้าหย่อนตีน” น่าจะสอดคล้องกับภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ปรากฏบนอีกด้านของจารึก
--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
--------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. ม.ป.ม.: รุ่งศิลป์การพิมพ์,2557. บริษัทปรียะธุรกิจ จำกัด. รายงานงานบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง. โครงการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณคดีจังหวัดกำแพงเพชร ตามแผนงานเงินกู้เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมการสร้างงานภายใต้โครงการ SIP พ.ศ.๒๕๔๓, ม.ป.ป. (อัดสำเนา) ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ก่อสร้าง. รายงานการขุดแต่งวัดกรุสี่ห้อง ในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร. โครงการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณคดีจังหวัดกำแพงเพชร ตามแผนงานเงินกู้เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมการสร้างงานภายใต้โครงการ SIP พ.ศ.๒๕๔๒, มกราคม ๒๕๔๓. (อัดสำเนา)
(จำนวนผู้เข้าชม 1219 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน