กรมศิลปากรขอเชิญร่วมอนุรักษ์ สืบทอดหนังสือเก่า อนุญาตนำต้นฉบับไปจัดพิมพ์เผยแพร่ได้
          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและ ประวัติศาสตร์ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่ต้นฉบับหนังสือเก่าทรงคุณค่า เพื่อให้สาธารณชนนำไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่าง ๆ บุคคลหรือหน่วยงานใดประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร โทร. ๐ ๒๑๖๔ ๒๕๐๑ ต่อ ๖๐๗๖ หรือดูรายชื่อหนังสือที่อนุญาตให้นำไปจัดพิมพ์เผยแพร่ได้ที่ www.finearts.go.th/literatureandhistory
          สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร มีภารกิจสำคัญในการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ สืบทอด และเผยแพร่หนังสือและเอกสารเก่าอันทรงคุณค่า ทั้งด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมสืบทอดอายุหนังสือเก่า ด้วยการนำต้นฉบับหนังสืออันทรงคุณค่าเหล่านี้ไปจัดพิมพ์ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานอายุวัฒนมงคล งานบำเพ็ญกุศลศพ และงานฉลองในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กว้างขวาง โดยคัดเลือกและจัดหมวดหมู่หนังสือและเอกสารเก่าที่ทรงคุณค่า จัดทำฐานข้อมูลในระบบดิจิทัล รวบรวมรายชื่อหนังสือและเอกสารเผยแพร่แก่ผู้สนใจที่ประสงค์จะนำไปจัดพิมพ์ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และ สืบทอดหนังสือและเอกสารเก่าอันทรงคุณค่าของชาติให้คงอยู่สืบไป
          สำหรับรายชื่อหนังสือที่อนุญาตให้นำไปจัดพิมพ์ขณะนี้มีทั้งสิ้น ๒๑๓ เรื่อง แบ่งเป็น ประเภทวรรณกรรม จำนวน ๙๖ เรื่อง เช่น กากีคำฉันท์ ประชุมสุภาษิตสอนหญิง อิศปปกรณัม: วรรณกรรมแปลจากตะวันตกยุคแรกของไทย





ประเภทประวัติศาสตร์ จำนวน ๒๖ เรื่อง เช่น เรื่องกรุงเก่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยรัตนโกสินทร์ พระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์


ประเภทจารีตประเพณี จำนวน ๓๗ เรื่อง เช่น มหาทิพมนต์: ความสืบเนื่องของบทพระพุทธมนต์ในสังคมไทย ย้อนรอยพิธีโล้ชิงช้าในสยาม


ประเภทแปลและเรียบเรียง จำนวน ๕๔ เรื่อง เช่น ห้าปีในสยาม เล่ม ๑ – ๒ บันทึกสัมพันธภาพระหว่างประเทศสยามกับนานาประเทศ เล่มที่ ๔ – ๖ ตามรอยบันทึกชาวต่างชาติจากอ่าวสยามสู่ลำน้ำเจ้าพระยา สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน







           ทั้งนี้ รายละเอียดในการจัดพิมพ์ยึดตามระเบียบกรมศิลปากร เรื่อง การขออนุญาตพิมพ์หนังสือ พ.ศ.๒๕๒๐

(จำนวนผู้เข้าชม 1344 ครั้ง)

Messenger