ภาพสลักทับหลังโบราณสถานปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

          ปรางค์กู่ หรือที่ภาษากูย เรียกว่า “เถียด เซาะโก” เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดูประจำชุมชน ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย ปรางค์กู่ ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง เรียงตัวตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุมเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเพื่อสอดรับกับบันไดทางขึ้น ปราสาททั้ง 3 หลัง ก่อสร้างด้วยศิลาแลง อิฐ และหินทราย มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปตัวยู (U) เว้นทางเข้าเฉพาะด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านหน้า ระยะทาง 200 เมตร เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ขนาดกว้าง 270 เมตร ยาว 550 เมตร กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 - ค้นพุทธศตวรรษที่ 17



          ทับหลัง จากปราสาทปรางค์กู่ เราพบทั้งสิ้น 3 ชิ้น โดยประดับอยู่บริเวณประตูทางเข้า ของปราสาททั้ง 3 หลัง ดังนี้
          1. ทับหลังปราสาทประธาน วัสดุหินทราย สลักภาพ "พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ" ประทับอยู่บนแท่นเหนือหน้ากาลแยกเขี้ยวคายท่อนพวงมาลัยออกไปทั้ง 2 ข้าง ท่อนพวงมาลัยสลักเป็นรูปกลีบบับผสมลายก้านขด ที่ปลายท่วนพวงมาลัยสลักเป็นลายใบไม้ม้วน เช่นเดียวกับใต้ท่อนพวงมาลัยซึ่งจำหลักภาพลายใบไม้ม้วนประกอบจนเต็มทับหลัง นายศิริ แหวนเงิน ปราชญ์ท้องถิ่นระบุว่า ก่อนการขุดศึกษาโบราณสถานในปี 2531 ตนยังพบศิวลึงค์และฐานโยนี ในทางประติมานวิทยา พระอินทร์ เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันออก ความพิเศษของช้างเอราวัณที่พบ มีลักษณะเป็นช้างเศียรเดียว มีลักษณะคล้ายกับทับหลังที่พบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย ปราสาทตาเล็ง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และปราสาทบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ร่วมสมัยกับปรางค์กู่


          2. ทับหลังปราสาทด้านทิศเหนือ วัสดุหินทราย สลักภาพเล่าเรื่อง "รามายนะ ตอน พระราม พระลักษณ์ถูกศรนาคบาศ" โดยพระราม และพระลักษมณ์อยู่ในท่านอนถูกรัดด้วยนาคบาศ แวดล้อมด้วยเหล่าวานร โดยฝูงวานรดังกล่าวแสดงความเคลื่อนไหวและแสดงอาการเสียใจอย่างเห็นได้ชัด ตอนบนของภาพสลักภาพบุคคลหรือเทวาดาเหาะ ตรงกลางสลักรูปบุคคลถือคันธนู สันนิษฐานว่า เป็นอินทรชิต เนื่องจากในเรื่องอินทรชิตเป็นผู้ยิงศรนาคบาศใส่พระราม พระลักษมณ์ ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา





          3. ทับหลังปราสาทด้านทิศใต้ วัสดุหินทราย สลักภาพเป็นภาพ "พระวิษณุสี่กร (เป็นผู้รักษาโลก) ทรงถือ สังข์ จักร คทา และดอกบัว" ประทับยืนอยู่บนครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระองค์ ส่วนครุฑยืนอยู่บนหลังสิงห์ 2 ตัว ที่หันหลังหากัน สิงห์ทั้ง 2 ตัว เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ คายท่อนพวงมาลัยออกมา โดยใช้มือจับยึดท่อนพวงมาลัยไว้ ปลายท่อนพวงมาลัยนั้นจำหลักเป็นรูปมกรคายนาคออกมาให้เห็นในด้านข้าง 3 เศียร ตอนบนของภาพสลักเป็นรูปบุคคลร่ายรำ สันนิษฐานว่าเป็นเทวดา ฝั่งละ 3 องค์ มุมซ้ายและขวาสลักรูปบุคคลนั่งชันเข่าสันนิษฐานว่าเป็นบริวาร ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา





----------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย : นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
---------------------------------------------------------

แหล่งอ้างอิงข้อมูล
-กรมศิลปากร. โครงการขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2503-2504. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร. 2510.
-กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งและค้ำยันโบราณสาน ปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ. นครราชสีมา: หน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย. 2531.
-ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เว็บไซต์ http://gis.finearts.go.th/fineart/

(จำนวนผู้เข้าชม 13768 ครั้ง)

Messenger