จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง"เส้นทางกาแฟของเมืองจันทบุรี"
          คำถามยอดฮิตของเพื่อนและคนที่รู้จักเมื่อยามเจอหน้า ที่เปิดร้านขาย"กาแฟ"ในเมืองจันทบุรี ว่า "มีเรื่องกาแฟบ้างเปล่า เค้าอยากรู้ประวัติกาแฟบ้านเราจัง เผื่อทำเป็นเรื่องราวให้ลูกค้าที่มานั่งดื่มกาแฟได้อ่านกัน" ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่หลงไหลในกาแฟ ความสงสัยเช่นกันว่า เส้นทางของกาแฟเมืองจันทบุรีในอดีตเป็นอย่างไร และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี จะมีเอกสารชั้นต้นหรือชั้นรองมารองรับเรื่องนี้บ้างไหม จากการค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุ พบว่าใน พ.ศ.2457 ได้มีการระบุว่า...เมืองจันทบุรี โดยเฉพาะท้องที่อำเภอพลอยแหวน(ภายหลังคืออำเภอท่าใหม่) มีราษฎร"ทำสวนกาแฟ"ได้ผลประโยชน์ ซื้อขายกันมากกว่าที่แห่งอื่น ๆ และเป็นกาแฟที่ดี...แต่ยังไม่มีเอกสารระบุว่าเป็นพันธุ์ใด (ผู้เขียน)
...ราคาซื้อขายกาแฟในช่วงนั้น อยู่ที่ชั่งละ 70 สตางค์
          ส่วนเอกสารชั้นรองที่ผู้เขียนได้อ่านเจอ ระบุว่า...จันทบุรีมีการปลูกกาแฟมาก่อนแล้ว จากบันทึก"เล่าเรื่องกรุงสยาม"เขียนโดย มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม ได้กล่าวถึง"กาแฟ"ของเมืองจันทบุรี เมื่อคราวเดินทางมาชายทะเลตะวันออก ใน พ.ศ.2381 (สมัยรัชกาลที่ 3) ว่า...ราษฎรชาวจังหวัดจันทบุรีทั้งหมดแทบจะกล่าวได้ว่าประกอบการกสิกรรมอย่างเดียว... กาแฟ...รับสั่งให้ปลูกโดยพระเจ้าแผ่นดิน และก็ได้รับผลดี ข้าพเจ้าได้ดื่มกาแฟรสดีที่จวนท่านเจ้าเมือง...กาแฟในช่วงนั้น เป็นสินค้าออกของสยามส่งได้ปีละ 12,000 หาบ ราคาซื้อขายหาบละ 16 บาท ... และจากหนังสืออ้างอิงอีกฉบับกล่าวถึง"กาแฟ"ว่า...แต่เมื่อถึง พ.ศ.2469 การเพาะปลูกได้ลดน้อยลง มีปลูกที่สงขลาแห่งเดียว
          จนกระทั่ง พ.ศ.2491-2495 กรมกสิกรรม ได้ค้นคว้าทดลองนำกาแฟที่ดีและเหมาะกับดินฟ้าอากาศของประเทศไทยมาปลูก คือพันธุ์โรบัสต้า และพันธุ์อาราบิคา และจัดตั้งสถานีทดลองขึ้นตามจังหวัดที่เคยปลูกกาแฟได้ผลดีมาก่อนแล้ว คือ จันทบุรี ยะลา ตรัง สงขลา และสุราษฎร์ธานี พื้นที่ทดลองปลูกทั้งหมด 1,034 ไร่ และในพ.ศ.2501 มีระบุว่า มีการปลูกกาแฟกันราว 40 จังหวัด และใน พ.ศ.2502 เพิ่มเป็น 50 จังหวัด มีผู้ปลูกถึง 8,826 ราย จำนวนที่ดิน 5,227 ไร่
          นอกจากนี้ยังพบหนังสือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ได้รายงานว่า...ในจังหวัดจันทบุรี(พ.ศ.2522) มีพื้นที่ปลูกกาแฟ (ซึ่งน่าจะเป็นพันธุ์โรบัสต้า เนื่องจากสามารถขึ้นได้ดีในไทย อีกทั้งให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์อื่น : ผู้เขียน) จำนวน 1,700 ไร่ แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอท่าใหม่ ผลผลิตที่ได้ในช่วง พ.ศ.2522-2523 รวม 240-240.9 ตัน มูลค่า 14.5-16.8 ล้านบาท
          ส่วนการเลิกปลูกกาแฟของจันทบุรีนั้นผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากสาเหตุใด แต่ที่อ่านพบว่ามีโรคที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับพันธุ์กาแฟคือ "โรครัสท์"เกิดจากเห็ดราจำพวก Rust fungi ชื่อHemileia Vastatrix B.and Br. ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้จันทบุรีเลิกปลูกกาแฟกัน

















---------------------------------------------------------
ผู้เขียน สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ
---------------------------------------------------------

อ้างอิง
มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์. 2549. เล่าเรื่องกรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา. มหาดไทย, กระทรวง. (2503). คำแนะนำการปลูกกาแฟ. พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น. หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี. (13)มท 2.2.4/16 เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี เรื่องกระทรวงมหาดไทย สั่งให้จัดทำยานพาหนะต่างๆ ส่งเข้าไปกรุงเทพฯ (11 พฤษภาคม 2457 – 2 มิถุนายน 2462) อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี, สำนักงาน. (ม.ป.ป.). การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงงานกาแฟผงสำเร็จรูป. ม.ป.ท.

(จำนวนผู้เข้าชม 1870 ครั้ง)