ตุ๊กตาสังคโลก เป็นสังคโลกประเภทหนึ่งที่พบมากในแหล่งโบราณคดีที่ปรากฏหลักฐานการพบเครื่องสังคโลก นิยมปั้นเป็นรูปบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น สตรีอุ้มเด็ก บุคคลขี่กระบือ และรูปสัตว์ อาทิ ช้าง วัว นก แม่ไก่กับลูก
          ตุ๊กตาสังคโลกเป็นหลักฐานหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของคนในสมัยสุโขทัยได้ชัดเจนมากขึ้น อาทิ การแต่งกาย การเลี้ยงสัตว์ สัตว์พาหนะ นอกจากนี้ ยังสะท้อนความเชื่อและการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากดินแดนใกล้เคียงด้วย ตัวอย่างเช่น ตุ๊กตาสังคโลกที่มีการผสมระหว่างคนและสัตว์นั้น ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยมีพระวินิจฉัย เรียกว่า นรสิงห์ เป็นสัตว์ผสมที่มีศีรษะเป็นคนสวมเครื่องประดับศีรษะ มีลำตัวเป็นสิงห์ ซึ่งปรากฏในตำนานของชาวมอญแถบ เมืองสะเทิมในประเทศพม่า
          ปัจจุบัน เรายังไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้ว่าตุ๊กตาสังคโลกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีผู้สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อเป็นของเล่น หรือใช้ในพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์โดยใช้ตุ๊กตาเป็นตัวตายตัวแทน เมื่อเสร็จพิธีก็จะหักคอ แขน หรือขาของตุ๊กตา หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า ตุ๊กตาเสียกบาล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หน้าที่การใช้งานที่แท้จริงของตุ๊กตาสังคโลกก็ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องศึกษาหาคำตอบต่อไป


ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

(จำนวนผู้เข้าชม 5279 ครั้ง)

Messenger