โบราณสถานวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม
          โบราณสถานวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามหรือโบราณสถานร้าง ต.๒๙ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากประตูนะโมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร
          เดิมนั้นชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดตาเถรขึงหนัง ส่วนชื่อวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามที่เรียกกันในปัจจุบันนั้น มาจากจารึกวัดตาเถรขึงหนังที่มีการพบที่วัดแห่งนี้ เนื้อหาของจารึกได้กล่าวถึงสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดาและสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีราชโอรส (พญาไสลือไท) ได้อาราธนาพระเถระสำคัญองค์หนึ่งนามว่า ศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม จากเมืองกำแพงเพชรมาอำนวยการสร้างวัดนี้ในปี พ.ศ. ๑๙๔๓ และต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๔๖ ได้มีการปลูกพระศรีมหาโพธิ์ เนื้อหาของจารึกถูกบันทึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย – ไทยสุโขทัย จารึกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๔๗ ภายหลังการสร้างวัดแล้วเสร็จ ดังปรากฏข้อความในจารึกดังนี้
          “…ศักราช ๗๖๒ นาคนักษัตรปีมะโรง สมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา มหาดิลกรัตนราชนาถ-กรรโลง แม่และสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (โอรส) ราชอำนวจน้าวห้าวหาญ นำ พ(ล) รชราคลาธรณีดลสกลกษัตริย์ (หากขึ้นเสวยใน) มหามไหสวริยอัครราช เป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ (นครศรีสัชนาลัย) สุโขทัย แกวกลอยผลาญปรปักษ์ศตรูนู พระราชสีมา…เป็นขนอบขอบพระบางเป็นแดน เท่าแสนสอง หนองห้วยและแพร่…สมเด็จแม่ออกท่าน จึงจักให้นิมนต์ตนสมเด็จพระ(มหา) ศรี (กิรติ) เจ้าเหง้าพุทธางกูรดรุณพันลอก ฝูงอริยะ จากสถานสถิระ คือพชรบุรีศรีกำแพงเพชร มาสร้างพระอาวาสอาสน์อันดีมีชื่อศรีพิจิตรกิรติกัลยารามเป็นสนามเจ้ามหาสัปปุรุษทั้งหลาย จักถวายอัญชุลีน้อมตน นมัสการคำนับ อันดับนั้น ศักราช ๗๖๕ ในปีมะแมแปรวันเดือนในเดือนอ้าย ออกใหม่ใส่ไว้ได้แปดค่ำ วันพฤหัสบดีศรีทินพารกาลยามตะวันชายย้ายหกบาทฉายาเสร็จ สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดามหาดิ (ลกรัตนราช) กรรโลง จึงสถิตสถาปนาปลูกพระพฤกษาอธิบดีศรีมหา (โพธิ)…”
          ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นวัดที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นขอบเขตวัด โดยมีโบราณสถานตั้งอยู่ภายในซึ่ง ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างดังนี้
          ๑. เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างด้านละ ๑๗ เมตร ที่ฐานด้านตะวันออกและตะวันตก ทำเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง โดยเฉพาะซุ้มด้านทิศตะวันออกปรากฏร่องรอยการก่อเป็นซุ้มโค้งสูงขึ้นไปคล้ายกรวยแหลม
          ๒. ฐานวิหารก่ออิฐ ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๓ เมตร อยู่ทางด้านหน้า หรือตะวันออกของเจดีย์ประธาน
          ๓. ฐานเจดีย์ราย ๔ ฐาน ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบฐานเจดีย์ประธาน
          ๔. คูน้ำล้อมรอบอาณาเขตวัด มีขนาดของคูกว้างประมาณ ๑๕ เมตร ล้อมรอบพื้นที่วัดที่มีขนาดกว้าง ๔๐ เมตร และยาว ๘๐ เมตร











---------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย

---------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 2404 ครั้ง)

Messenger