ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับใบเสมาวัดอภัยทายาราม
          ใบเสมาที่อยู่รอบล้อมอุโบสถ เป็นหลักที่สมมติขึ้นมาให้เห็นขอบเขตพื้นที่การทำสังฆกรรมของหมู่คณะสงฆ์ ซึ่งการกำหนดหลักเขตโดยใบเสมานี้ได้กำหนดไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาอย่างเป็นทางการ การสร้างเสมาของแต่ละวัดไม่เพียงสร้างเพื่อกำหนดหลักเขตเท่านั้น แต่รูปแบบศิลปกรรมของเสมายังสะท้อนให้เห็นอายุสมัยทางศิลปะ โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากใบเสมาวัดอภัยทายาราม วัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) (ภาพที่ ๑) สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบประวัติ แต่เมื่อพ.ศ. ๒๓๔๐ มีการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ โดยเริ่มพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถวันพฤหัสบดี เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๔๐ โดยปรากฏหลักฐานการปฏิสังขรณ์อุโบสถ คือ เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ปฏิสังขรณ์วัดอภัยทาราม ที่จารึกด้วยอักษรธนบุรี - รัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๔๑ - ๒๓๔๙) (ภาพที่ ๒) ของเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตซึ่งทรงปฏิสังขรณ์วัดอภัยทาราม
          การปฏิสังขรณ์วัดในสมัยดังกล่าว น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับใบเสมาของวัดที่มีสองหน้า ปักเดี่ยว ลักษณะคล้ายเสมาพื้นบ้านทั่วไปมากกว่าจะเป็นเสมาของวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ (ภาพที่ ๓) เพราะวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้าง หรือ แม้กระทั่งที่เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ทรงร่วมสร้าง จะเป็นใบเสมาคู่หน้าเดียว โคนแผ่นขนาบด้วยนาคเบือน และหากสังเกตใบเสมาของวัดอภัยทายารามทุกแผ่นแล้วจะพบอีกว่า ใบเสมาแผ่นที่ตั้งอยู่ขนาบข้างอุโบสถวัด มีลักษณะที่ต่างไปจากเสมาแผ่นอื่น ๆ แม้ว่าเมื่อดูแบบผิวเผินใบเสมาทั้งสองแผ่นนี้จะมีลักษณะคล้ายกับเสมาแผ่นอื่น ๆ แต่แท้จริงแล้วมีลักษณะต่างออกไป โดยพิทยา บุนนาค ได้พิจารณาและจัดประเภทของใบเสมาทั้ง ๒ แผ่นนี้ไว้ว่า เสมาทั้ง ๒ แผ่นมีลักษณะเป็นสายโค้งกิ่ว (ถือเป็นเสมาที่กษัตริย์สร้าง) ซ้อนอยู่กับเสมาสายอยุธยา (เสมาระดับสามัญชนของสังคมลุ่มเจ้าพระยา) สายโค้งกิ่วที่ทับซ้อนเป็นสัญลักษณ์ที่พิทยา (ภาพที่ ๔) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ปฏิสังขรณ์วัดทรงต้องการสื่อให้เห็นว่าฐานะของพระองค์เทียบเท่ากับกรมพระราชวังบวร หรือ วังหน้า เพราะก่อนหน้าทรงเป็นถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และในขณะที่ปฏิสังขรณ์วัดทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การสื่อนัยยะเช่นนี้ยังสอดคล้องกับรัดเกล้าเกี้ยวสองชั้นบนใบเสมา เยี่ยงวังหน้าด้วย และลักษณะการแสดงฐานะของพระองค์กับรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ ยังสะท้อนได้จากส่วนหนึ่งของข้อความบนจารึกการปฏิสังขรณ์วัดความว่า “ขอเป็นพระชนะมารได้บัลลังก์” หมายถึงขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งตามคติไทยถือว่าผู้ที่อยู่ในสถานะดังกล่าวมีแต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นด้วย


ภาพที่ ๑ อุโบสถวัดอภัยทายาราม


ภาพที่ ๒ เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ปฏิสังขรณ์วัดอภัยทาราม จารึกบนแผ่นไม้ ตั้งอยู่ในอุโบสถวัดอภัยทายาราม


ภาพที่ ๓ เสมาวัดอภัยทายาราม


ภาพที่ ๔ หนึ่งในสอง ใบเสมาวัดอภัยทายาราม ที่ถูกจัดประเภทให้เป็นแบบโค้งกิ่วซ้อนกับเสมาสายอยุธยา

---------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : สุวิมล เงินชัยโรจน์ นักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร
---------------------------------------------------

บรรณานุกรม
บุญเตือน ศรีวรพจน์ ศิลปวัฒนธรรม. “เพลงยาว “อนุสรณ์สถาน” เจ้าฟ้าเหม็น” . [ออนไลน์]. เว็บไซต์ : https://www.silpa-mag.com/history/article_8223 .(สืบค้นข้อมูล: ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓) พิทยา บุนนาค. เสมา สีมา เล่ม ๒ ใบสีมาสมัยกรุงเทพ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ เอ็ม แอนด์ เอ็ม เลเซอร์พ ริ้นต์, ๒๕๖๐. กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒. กรุงเทพฯ: การศาสนา, ๒๕๒๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 1110 ครั้ง)

Messenger