เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง
เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง (ตอนที่ ๓) พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง
๑) ความเป็นมาก่อนพัฒนาการสู่ความเป็นเมืองทวารวดี จากการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง แรกเริ่มมีคนสมัยโบราณเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อประมาณ ๒,๒๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ - ๗) โดยปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยเฉพาะบริเวณโนนเมืองเก่า ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางเท่านั้น ลักษณะเป็นชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ก่อนที่จะมีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ จากการขุดค้นในหลุมขุดค้นที่ ๑ - ๓ (FD 1 FD 2 และ FD 3) พบหลักฐานการทำศพครั้งที่ ๑ แบบฝังนอนหงายเหยียดยาว ร่วมกับเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินเขียนสีแดงบนพื้นสีขาวนวล ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะประเภทเด่นของวัฒนธรรมบ้านเชียง (สมัยสุดท้าย) กำหนดอายุราว ๒,๓๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว จึงสันนิษฐานว่า ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่เมืองฟ้าแดดสงยางแห่งนี้ น่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณในวัฒนธรรมบ้านเชียง
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นต้นมา (ตั้งแต่ ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว) พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของชุมชนโบราณแห่งนี้ ได้แก่ การรู้จักผลิตภาชนะดินเผาจากเตาเผา ประเภทระบายความร้อนในแนวระนาบ (cross – draft kiln) โดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นโครงของเตาก่อนใช้ดินพอกทับเป็นผนังเตา นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการถลุงเหล็ก โดยการพบตะกรันเหล็ก และท่อดินเผาที่มีคราบของตะกรันเหล็กติดอยู่ ในช่วงเวลานี้พิธีกรรมการฝังศพจะนิยมบรรจุศพลงในภาชนะดินเผา (jar burials)
๒) พัฒนาการเมืองทวารวดี เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา (ประมาณ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) เป็นช่วงที่เมืองฟ้าแดดสงยางมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะการพบหลักฐานการนับถือพุทธศาสนา มีการสร้างศาสนสถาน ตลอดจนประติมากรรมรูปเคารพ และ ใบเสมาขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันพิธีกรรมการฝังศพที่เคยปฏิบัติกันมาในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ (๑,๓๐๐ - ๙๐๐ ปีมาแล้ว) เกิดการสร้างเมืองขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการขุดคูน้ำคันดินทำให้เมืองโบราณฟ้าแดดสงยางมีผังคล้ายรูปใบเสมาดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากการแพร่หลายเข้ามาของวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเชื่อกันว่า มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่ภาคกลางของประเทศไทย หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนโบราณในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ พระพิมพ์ที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานภายในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ที่มีลายพิมพ์เหมือนกับพระพิมพ์ที่พบจากเมืองโบราณนครปฐม และยังเป็นพิมพ์ที่แพร่หลายอยู่ในลุ่มแม่น้ำมูล ที่บ้านโตนด อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา นอกจากพระพิมพ์แล้ว เครื่องใช้ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะภาชนะดินเผาที่เป็นแบบนิยม ในวัฒนธรรมทวารวดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีปรากฏที่เมืองโบราณแห่งนี้ด้วย เช่น หม้อน้ำมีพวย (กาน้ำ) ตะคัน และ หม้อมีสัน เป็นต้น
๓) พัฒนาการหลังเมืองทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ (ประมาณ ๘๐๐ - ๗๐๐ ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยนครวัด – บายน ของประวัติศาสตร์แห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ) เมืองฟ้าแดดสงยางได้เริ่มปรากฏร่องรอยหลักฐานของวัฒนธรรมเขมรโบราณขึ้น จากการขุดค้นบริเวณโนนเมืองเก่า โนนวัดสูง และโนนฟ้าแดด ได้พบชั้นกิจกรรมการอยู่อาศัย และการก่อสร้างศาสนสถาน โดยเฉพาะการค้นพบกระเบื้องมุงหลังคา และเครื่องเคลือบ ซึ่งสันนิษฐานว่าผลิตจากเตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ (แหล่งเตาบ้านกรวด) วัฒนธรรมเขมรโบราณที่แพร่เข้ามาได้ปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ภาชนะจากภาชนะเนื้อดินธรรมดาในสมัยทวารวดีมาเป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพดีกว่า และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการน้ำของเมืองโบราณแห่งนี้ โดยการสร้างบารายเพิ่มเติมจากระบบการจัดการน้ำในสมัยก่อนหน้าที่มีเฉพาะแค่คูน้ำคันดิน โดยสร้างบารายขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของเมืองฟ้าแดดสงยาง (ปัจจุบันเป็นที่นา) นอกจากนี้รูปแบบการปลงศพภายในชุมชนได้เปลี่ยนความนิยมไป กลายเป็นนิยมเผาก่อนแล้วจึงเก็บอัฐิใส่โกศดินเผาไปฝังไว้ใต้ศาสนสถาน ดังหลักฐานที่ปรากฏในหลุมขุดค้นบริเวณโนนฟ้าแดด
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ประมาณ ๖๐๐ - ๒๐๐ ปีมาแล้ว) เมืองฟ้าแดดสงยาง ยังพบหลักฐานการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และจากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยางบริเวณโนนเมืองเก่า และโนนวัดสูง ได้พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยพื้นเมืองและเครื่องถ้วยจีนที่กำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยา ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมล้านช้าง (ลาว) และจากการขุดแต่งโบราณสถาน ทำให้ทราบว่ามีการสร้างศาสนสถานแบบอยุธยาซ้อนทับฐานศาสนสถานแบบทวารวดีเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะฐานล่างของพระธาตุยาคูที่ปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างเด่นชัดในปัจจุบัน
---------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สํานักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
---------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
จังหวัดกาฬสินธุ์. แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔. ผาสุข อินทราวุธ และคณะ. รายงานการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. ม.ป.ท. : ม.ป.ป., ๒๕๓๔. (เอกสารอัดสำเนา) หวัน แจ่มวิมล. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. กรมศิลปากร : หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น, ๒๕๑๑. (เอกสารอัดสำเนา)
(จำนวนผู้เข้าชม 2278 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน