วัดสิงห์ เมืองกำแพงเพชร
          วัดสิงห์เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร แผนผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
          สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานชั้นล่างที่รองรับอาคารด้านบนเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีผนังด้านข้างก่อด้วยศิลาแลงสูง ๐.๙๐ เมตร บริเวณชานชาลาด้านทิศตะวันออกของฐานชั้นล่าง ปรากฏแท่นประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงห์และทวารบาล ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะโกลนศิลาแลงของประติมากรรม บนลานประทักษิณมีฐานเสมาสำหรับปักใบเสมาหินชนวนจำนวน ๘ ฐาน ล้อมรอบลานดังกล่าว ใบเสมาหินชนวนมีการสลักลวดลายพันธุ์พฤกษาในกรอบรูปสามเหลี่ยม ที่ขอบใบเสมาแกะสลักเป็นแถวลายกระหนกปลายแหลม ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ถัดขึ้นไปจากลานประทักษิณเป็นฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในอาคารปรากฏแท่นอาสน์สงฆ์ที่แนวผนังอาคารด้านทิศใต้และมีแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่ง
          เจดีย์ประธานอยู่ถัดจากพระอุโบสถไปทางด้านทิศตะวันตก เป็นเจดีย์บนฐานสี่เหลี่ยม มีลักษณะเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมต่อด้วยชั้นฐานบัว ที่ฐานสี่เหลี่ยมตอนล่างทำเป็นซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปยื่นออกมาทั้ง ๔ ทิศ องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐ ส่วนยอดเจดีย์หักพังทลายไป จากการศึกษารูปทรงเดิมขององค์เจดีย์จากหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายเก่าและหลักฐานจากการขุดแต่งทางโบราณคดีบริเวณฐานเจดีย์ได้พบชิ้นส่วนของบัวปากระฆัง จึงสันนิษฐานได้ว่ารูปทรงเดิมของเจดีย์ประธานวัดสิงห์เป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยม ที่มีการเพิ่มฐานสี่เหลี่ยมให้ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น คล้ายกับเจดีย์ประธานของวัดกำแพงงามในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร
          “วัดสิงห์” จึงเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่ง จากหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความปราดเปรื่องในสรรพวิชางานช่างฝีมือที่ปรากฏให้เห็นในด้านสถาปัตยกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นประจักษ์พยานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี.





















-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
-----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอก อินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. รายงานการขุดแต่งโบราณสถาน วัดสิงห์. ม.ป.ท., ๒๕๒๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 2632 ครั้ง)

Messenger