เล่าเรื่องประติมานวิทยา : อลักษมี (Alakṣmī)
          อลักษมี (Alakṣmī) เป็นเทวีแห่งความโชคร้าย ที่รวมของสิ่งอัปมงคล โรคร้าย ความยากจน การทะเลาะเบาะแว้ง พระนางจึงได้รับการบูชา เพื่อป้องกันเหตุร้ายเหล่านั้น เป็นที่รู้จักในนาม ชเยษฐา (Jyeṣṭhā) แปลว่า “ผู้เกิดก่อน” จัดเป็นพี่สาวของลักษมี (Lakṣmī) เทวีแห่งความมั่งคั่งและความงาม
          อลักษมี เป็นตัวแทนของทุกสิ่งที่เป็นด้านตรงกันข้ามกับลักษมี พระนางอยู่ร่วมกับลักษมีเสมอ เช่น หากลักษมีเป็นฝน พระนางคือ น้ำท่วมและความแห้งแล้ง หากลักษมีเป็นธัญพืช พระนางคือแกลบ หากลักษมีเป็นชัยชนะ พระนางคือ ความพ่ายแพ้ ที่มาพร้อมกับชัยชนะ หากลักษมีเป็นบุตร พระนางคือ ความเจ็บปวด ความสกปรก ที่มาพร้อมกับการคลอดบุตร พระนางยังถูกระบุว่าเป็นองค์เดียวกับ ธูมมาวตี (Dhūmavatī) เทวีม่ายผู้อับโชค ในกลุ่มมหาวิทยา (Mahāvidyā) เทวีในลัทธิตันตระ และนิรฤติ (Nirṛti) เทวีแห่งความโชคร้าย พระนางอาศัยอยู่ที่ใดก็ตามที่สกปรก โสโครก แหล่งอาชญากรรม ความยากจน ฯลฯ ลักษณะของอลักษมี เปลือยเปล่า ลำตัวแห้งเหี่ยว แก้มตอบ จมูกยาว อกยาน ริมฝีปากหนา ตาพอง ถือไม้กวาดอยู่ในมือ ขี่ลา (gardabha, ครรภ) มีอีกาประดับอยู่บนธง (กากะธวัช, kākadhvaja) เครื่องบูชาประกอบด้วยพริกและมะนาว







-------------------------------------------------------

ผู้เรียบเรียง : เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
1. Margaret Stutley, The illustrated dictionary of Hindu iconography (London : Routledae & Kegan Paul, 1985), 5.
2. https://www.wisdomlib.org/definition/alakshmi
3. https://en.wikipedia.org/wiki/Jyestha_(goddess)

(จำนวนผู้เข้าชม 7441 ครั้ง)