...

ซุ้มประตูจีนวัดช่องลม ราชบุรี

 

       วัดช่องลม พระอารามหลวงชั้นสามัญ ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา ลักษณะพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมคางหมู กว้างทางทิศตะวันตก และแคบทางทิศตะวันออก พื้นที่แบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสโดยถนนสายเล็ก ๆ ที่วัดบริจาคเป็นทางสาธารณะแก่ชุมชน ภายในเขตสังฆาวาสพบหลักฐานบ้านเรือนของชาวจีนที่มีอายุเก่าแก่ เจ้าของได้ถวายที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้กับวัดช่องลม สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในบ้านถูกปรับเปลี่ยนเป็นกุฏิสงฆ์และหอฉันท์ของทางวัด และหลักฐานที่สำคัญที่ยังคงอยู่คือ ซุ้มประตูทางเข้าบ้าน

 

 

       บ้านจีน ตั้งอยู่ภายในเขตสังฆาวาสของวัดช่องลม วางตัวแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก หน้าบ้านหันสู่แม่น้ำแม่กลอง จากคำบอกเล่าของพระครูโสภณปัญญาวัตน์ เจ้าอาวาสวัดช่องลม ว่า

          “บ้านคนจีนบริเวณนี้น่าจะเป็นบ้านที่เก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ย (อาจจะเป็นเรือ ไม้ หรือหวย) มีฐานะดีระดับเศรษฐีและมีข้าทาสบริวารมากมาย ภายในบริเวณบ้านมีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สมัยที่ท่านเจ้าอาวาสอุปสมบทใหม่ ๆ ยังคงมีอาคารอีกหลายหลังภายในบริเวณนี้ ได้แก่  

         ๑) อาคารแบบจีนใต้ถุนสูงพื้นทำจากปูนขาวสอด้วยกาวหนังวัวและปูไม้กระดานทับ ผนังหนา เสาทำจากไม้สัก และหลังคาใช้กระเบื้องที่นำเข้ามาจากเมืองจีนถูกดัดแปลงให้เป็นที่อยู่ของเด็กวัด  

         ๒) อาคารตรงกลางที่มี ๘ ห้องต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเรียนนักธรรม (โรงเรียนพระปริยัติธรรม)  

         ๓) ศาลาริมน้ำมีชานยื่นออกไปสำหรับขึ้นเรือกว้างประมาณ ๒ เมตร ซึ่งปัจจุบันศาลาท่าน้ำได้ชำรุดทรุดโทรมจนไม่เหลือร่องรอยแล้ว  

         ๔) ซุ้มประตูแบบจีนที่ยังหลงเหลือหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาแต่ก็ยังคงรูปแบบศิลปะแบบจีนที่สวยงาม 

สาเหตุที่เจ้าของยกบ้านและที่ดินให้เป็นสมบัติของวัด เนื่องจากเกิดอหิวาตกโรคข้าทาสบริวารในบ้านเสียชีวิต จึงย้ายครอบครัวไปตั้งรกรากที่อื่น”

       บ้านหลังนี้เป็นบ้านเศรษฐีหรือคหบดีมีหน้าที่เก็บส่วยและภาษี (ไม้/เรือ/ฝิ่น) จากเรือบรรทุกสินค้าในแม่น้ำแม่กลอง สอดคล้องกับสถานที่ตั้งที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง และชื่อบ้านบริเวณนั้นว่า บ้านท่าเสา ภายในบ้านพบสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ ๑) เรือนประธานจำนวน ๘ ห้อง ๒) เรือนบริวารขนาบเรือนประธาน 2 ด้าน ซ้ายและขวา มีลักษณะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง ๓) ศาลาท่าน้ำ ๔) ซุ้มประตู 

      จากหลักฐานของสิ่งก่อสร้างที่พบมีลักษณะแผนผังเหมือนกับบ้านคหบดีจีนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ เช่น บ้านหวั่งหลี บ้านโปษ์กี่ เป็นต้น อาคารวางตัวโดยคำนึงถึงแม่น้ำซึ่งถือเป็นมงคล หรือถนนที่ตัดผ่านมากกว่าการคำนึงถึงทิศทาง บ้านมีการวางผังแบบซานเหอเอี้ยน คือการนำอาคาร ๓ อาคารมาประกอบเข้ากันเป็นรูปตัว U ประกอบด้วย เรือนประธานมีลักษณะเป็นตึกขนาดใหญ่วางตัวขนานกับแม่น้ำ สำหรับเป็นห้องบูชาบรรพบุรุษหรือห้องรับแขก และตึกยาวขนาบเรือนประธานทั้งสองข้าง ตึก ๓ หลังมีลักษณะชั้นเดียวหรือสองชั้น มีบันไดทางขึ้นจากด้านนอก สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ตรงกลางระหว่างตึกทั้ง ๓ เป็นลานโล่ง (open court) ทางด้านหน้ามีซุ้มประตูแบบจีน มีหลังคาคลุมและป้ายชื่อบ้าน บริเวณผนังเขียนภาพเล่าเรื่อง 

       ซุ้มประตูจีน มีลักษณะตัวซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน ประตูทางเข้าและเครื่องบนทำจากไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาสีแดง สันหลังคาประดับลวดลายกระเบื้องเคลือบ ในการศึกษานี้แบ่งศึกษาเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้ 

       ส่วนหลังคา หลังคาแบบซานเหมินติ่ง หมายถึง หลังคาสำหรับซานเหมิน ซานเหมิน คือชื่อเรียกอาคารหรือซุ้มด้านหน้าของบริเวณหนึ่ง โดยปกติอาคารซานเหมินจะทำหลังคาลดหนึ่งชั้นหรือซ้อนชั้น สันหลังคามีลักษณะแอ่นตรงกลาง ปลายสันหลังคาทั้ง ๒ ด้านจะเชิดหัวขึ้น ส่วนปลายสุดทำเป็นรูปหางนกนางแอ่น บนหางนกนางแอ่นเป็นมังกรพ่นน้ำลายเครือเถาหรือใบไม้ม้วนสะบัดปลายทั้งสองด้าน ส่วนกลางของสันหลังคาประดับปูนปั้นรูปกิเลน และหงส์ชูดอกโบตั๋นและดอกเบญจมาศตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางสีแดงที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนโค้งหงาย 

       ตอนบน คือ ส่วนตั้งแต่เหนือขอบประตูจรดใต้หลังคา ส่วนนี้ประกอบด้วย ป้ายชื่อบ้าน และภาพเล่าเรื่อง ฮก ลก ซิ่ว

ป้ายชื่อบ้านเป็นตัวอักษรจีน 2 ตัว 合芳 สีเหลืองบนพื้นสีแดง อ่านว่า “ฮวง ฮะ” (แต้จิ๋ว, อ่านจากหลังมาหน้า) เป็นชื่อเจ้าของบ้าน สอดคล้องกับหลักฐานการสร้างศาลเจ้าพ่อกวนอูว่า สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดศรีสุริยวงศ์ จำนวน ๒ ไร่ ๓๗ ตารางวา ให้แก่ชาวราชบุรีสร้างศาลเจ้าโดยการนำของนายฮวงฮะ แซ่อึ้ง นายเซียมง้วน แซ่เตียว ร่วมกันสละทรัพย์สินตามจิตศรัทธา หรืออ่านว่า “ฟาง เหอ” (จีนกลาง) แปลว่า กลิ่นหอม บรรยากาศดี

       ตอนกลาง คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างฐานถึงตอนบน เหนือกรอบประตูมีตัวอักษรจีนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเขียนด้วยสีเขียวคู่กัน กรอบทางขวาอ่านว่า “ปู่” แปลว่า ร่ำรวย กรอบทางซ้ายอ่านว่า “กุ้ยหรือกุ่ย”แปลว่า ยศศักดิ์ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายมงคล และลวดลายต่าง ๆ ในกรอบกระจกเป็นภาพบุคคลและนก 

       ตอนล่าง ส่วนที่เป็นฐานของอาคาร 

       ระบบโครงสร้างรับน้ำหนัก ระบบโครงสร้างรับน้ำหนักของซุ้มประตูของศาลเจ้าหรือบ้านมีระบบที่เหมือนกันทุกสกุลช่าง ประกอบจากคานหน้าตัดสี่เหลี่ยม ด้วยขนาดที่เล็กของซุ้มประตูนี้ทำให้มีคานแค่คานเดียว และใช้โครงสร้างทางตั้งมารับที่เรียกว่า เสาดั้ง รองรับแปกลม และมีไม้กลอนวางขวางแป เสาดั้งจะตั้งอยู่บนเสาอีกทีหนึ่ง โดยซุ้มประตูนี้มีด้านละ ๒ เสา มีขื่อพาดระหว่างเสาทั้งสองต้น การถ่ายน้ำหนักของหลังคาจะถ่ายลงบนแปกลมไปสู่เสาดั้งและเสา เสาทุกต้นทำหน้าที่รับแปโดยตรง

       จากหลักฐานมีชื่อเจ้าของบ้านเป็นผู้บริจาคทรัพย์สร้างศาลเจ้าพ่อกวนอู ในสมัยรัชกาลที่ ๕ รูปแบบของแผนผังบ้านที่คล้ายคลึงกับบ้านจีนในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ และรูปแบบศิลปกรรมหลังคาแบบซานเหมินติ่ง การตกแต่งลวดลายสันหลังคาโดยใช้กระเบื้องตัดหลากหลายสีสันเป็นที่นิยมทำในสกุลช่างแต้จิ๋ว สันนิษฐานว่าบ้านและซุ้มประตูเป็นศิลปะจีนสกุลช่างแต้จิ๋วที่เข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดราชบุรีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์   
 

เรียบเรียงโดย: นางสาวสุกัญญา เรือนแก้ว ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ

เอกสารอ้างอิง

ชูพงษ์ ทองคำสมุทร , ฮวงจุ้ยกับการออกแบบสถาปัตยกรรม , (ขอนแก่น : 

     โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น , ๒๕๕๕) , ๑๖.

ผุสดี ทิพทัส , บ้านในกรุงรัตนโกสินทร์ ๒ : รัชสมัยพระบาทสมเด็จ 

    พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ 

    หัว (พ.ศ.๒๓๙๔ - พ.ศ.๒๔๕๓) , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ 

    มหาวิทยาลัย , ๒๕๔๕) , ๖๙.

พรพรรณ จันทโรนานนท์ , วิถีจีน , (กรุงเทพฯ :  โรงพิมพ์แปลน พริ้นติ้ง , 

     ๒๕๔๖) , ๙๗

_______. ฮก ลก ซิ่ว โชคลาภอายุยืน , (กรุงเทพฯ :  เรือนแก้วการพิมพ์ , 

     ๒๕๔๙) ,๒๕๓.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด มุจลินทร์, โครงการบูรณะซ่อมแซมซุ้มประตูเก๋งจีนวัด 

    ช่องลม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ๒๕๕๙, (ม.ป.ท. : 

     ๒๕๕๙), หน้า ๑-๒.

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. ศาลเจ้าในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑.

สัมภาษณ์

พระครูโสภณปัญญาวัฒน์, เจ้าอาวาสวัดช่องลม

ที่มาของภาพ

Google Earth 

https://www.triptravelgang.com/travel-thailand/43662/

(จำนวนผู้เข้าชม 6050 ครั้ง)


Messenger