เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
หลักฐานไวษณพนิกายที่พบในฝั่งอันดามัน
พระวิษณุ (พระนารายณ์) เขาพระเหนอ
วัสดุ :
หินทราย (Tuffacous Sandstone)
อายุ/สมัย :
พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ศิลปะอินเดีย แบบปัลลวะ
ขนาด :
สูง ๒๐๒ เซนติเมตร
ประวัติ :
พบที่แหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ตำบลบาง นายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยสมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนำพระวิษณุองค์นี้มาเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐
ปัจจุบัน :
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ลักษณะ :
พระวิษณุเขาพระเหนอ เป็นประติมากรรมลอยตัว ประทับยืนตรง มี ๔ กร ส่วนพระพักตร์กะเทาะหายไปบางส่วน สวมกิรีฏมกุฎทรงกระบอกเรียบไม่มีลวดลาย พระอุระผึ่งผาย บั้นพระองค์บาง ทรงพระภูษาโจงยาว ไม่มีผ้าคาดพระโสณี พระหัตถ์ที่ถืออาวุธชำรุดหักหายไปทั้ง ๔ ข้าง แต่สามารถสันนิษฐานอาวุธที่พระหัตถ์ได้โดยการเทียบเคียงกับเทวรูปพระวิษณุองค์อื่น คือ พระหัตถ์ขวาบนถือจักร พระหัตถ์ขวาล่างถือก้อนดิน (ภูมิ) พระหัตถ์ซ้ายบนถือสังข์ และพระหัตถ์ซ้ายล่างถือคทา จากลักษณะที่ส่วนพระองค์ไม่มีร่องรอยพระหัตถ์แสดงให้เห็นว่าพระหัตถ์ล่างทั้งสองข้างแยกจากพระโสณี
สำหรับการถือหรือจับอาวุธนั้น รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี เสนอว่า น่าจะถือจักรโดยหันสันออก ถือก้อนดินด้วยการหงายและแบมือ ถือสังข์ด้วยการหงายมืออกโดยก้นสังข์ตั้งขึ้นและหันปากสังข์ออก ถือคทาด้วยการคว่ำมือลง คทาเฉียงเล็กน้อยยาวลงมาจรดพื้น
นอกจากนั้น ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เสนอว่า เทวรูป องค์นี้มีลักษณะถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ มีกล้ามเนื้อที่ชัดเจน มีการเกรงมือทั้งสองข้างไปด้านหลังเหมือนการเบ่งกล้าม รวมทั้งลักษณะนิ้วเท้า เล็บเท้า และสัดส่วนของนิ้ว มีลักษณะเหมือนจริงตามธรรมชาติ สอดคล้องกับที่ พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เสนอไว้ว่า พระวิษณุองค์นี้ให้ความรู้สึกน่าเกรงขามและให้ความประทับใจมากที่สุดองค์หนึ่งที่พบในประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จทางด้านงานศิลปกรรมขั้นสูง รวมทั้งแสดงถึงความเชี่ยวชาญและความมั่นใจของช่างผู้สลักที่สลักพระกรทั้งสี่แยกห่างจากตัวองค์
ภาพ : เขาพระเหนอ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ภาพ : โบราณสถานเขาพระเหนอ (ระหว่างดำเนินการบูรณะ)
ภาพ : พระวิษณุ (จำลอง) และโบราณสถานเขาพระเหนอ (หลังขุดแต่งและอนุรักษ์ ปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๕)
โบราณสถานเขาพระเหนอ :
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นเขาขนาดย่อมตั้งอยู่ตรงข้ามกับแหล่งโบราณคดีเหมือนทอง (ทุ่งตึก-เกาะคอเขา) บนยอดเขามีเทวสถานเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ
ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้กล่าวไว้ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองภาคใต้ว่า “…เทวรูปนี้ยืนอยู่กลางฐานใหญ่ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ซึ่งให้เห็นได้ว่าคงจะเป็นศาลหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เรื่องราวอะไรก็สืบไม่ได้…”
สันนิษฐานได้ว่า พระวิษณุประดิษฐานบนอาคารที่ก่อด้วยอิฐ และตามที่ ดร.เอช.จี. ควอริทช์ เวลส์ (Dr. H.G. Quaritch Wales) ได้สำรวจที่แหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอได้สำรวจพบอิฐฐานราก (บริเวณที่ตั้งพระวิษณุ) เป็นแนวลดหลั่นแบบขั้นบันได
พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๗ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ พบฐานแนวอิฐซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระวิษณุ เป็นแผ่นอิฐเรียงขนาดใหญ่และแนวอิฐกระจัดกระจายในรัศมีประมาณ ๗๕ ตารางเมตร และมีซากแนวอิฐเรียงเป็นแนวลาดจากแนวฐานลงสู่ปลายเนิน
และจากการขุดค้นและขุดแต่งในโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ของสำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าโบราณสถานเขาพระเหนอเป็นอาคารไม่มีหลังคาคลุม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๐.๖๐-๐.๘๐ เมตร มีการย่อเก็จด้านหน้า กึ่งกลางอาคารมีบันได้และทางเดินปูด้วยอิฐกว้าง ๑.๓ เมตร มีเทคนิคการก่อสร้างโดยการเลือกบริเวณที่สูงที่สุดบนเขาพระเหนอ และมีการปรับพื้นที่รวมทั้งมีการนำก้อนหินต่างๆ มาเรียงก่อซ้อนกันเป็นขอบฐานโบราณสถาน
จากผลการขุดแต่งคาดว่าโบราณสถานเขาพระเหนอน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับพระวิษณุที่พบประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นไป
---------------------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------
อ้างอิง :
- รายงานการประชุมโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามเส้นทางแม่น้ำตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ (สำเนา).
- พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๓.
- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ตะกั่วป่า : ชุมชนโบราณ.” สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: สถาบันทักษิณคดีศึกษา, ๒๕๒๙. - รายงานเบื้องต้นการขุดค้น
-ขุดแต่งโบราณสถานเขาพระเหนอ ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ.๒๕๕๒.
- สุขกมล วงศ์สวรรค์. “หลักฐานทางศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่พบในแหล่งโบราณคดีฝั่งทะเลอันดามัน.” พิพิธวิทยาการ รวมบทความวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑสถานวิทยา ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙. - H.G. Quaritch Wales, A Newly-Explored Route of Ancient Indian Cultural Expansion.London: India Society, 1937.
(จำนวนผู้เข้าชม 4530 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน