...

ภูมิสถานอยุธยา

        การจัดทำแผนที่กรุงศรีอยุธยา

         พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้จัดทำแผนที่กรุงศรีอยุธยา ๒ ฉบับ ได้แก่ แผนที่กรุงเทพทวารวดี พ.ศ. ๒๔๕๐ และแผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๙ แผนที่ทั้งสองฉบับนี้ถือเป็นแผนที่สำรวจผังเมืองสมัยใหม่ เขียนตามหลักวิชาการการทำแผนที่แบบตะวันตก ทำให้มีความน่าเชื่อถือเรื่องความถูกต้องแม่นยำและแสดงสภาพภูมิสถานได้ดีกว่าแผนที่โบราณ ใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน 

รูปแผนที่กรุงเทพทวาราวดี พ.ศ. ๒๔๕๐

         

        แผนที่กรุงเทพทวาราวดี พ.ศ. ๒๔๕๐

         เป็นแผนที่กรุงเก่าที่พิมพ์โดยกรมแผนที่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาว ๑.๒๐ เมตร มาตราส่วน ๑:๕,๐๐๐ มีแถบมาตราส่วนบอกระยะความยาวเป็นเส้น ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ ระบายสีลงในรูปต่างกัน ตามด้วยคำอธิบายว่าสีน้ำ สีอิฐ ถนนดิน เขียนเส้นประเล็ก ๆ ว่าเป็นเส้นเขตร์ประมาน และสุดท้ายเป็นวงกลมรูปไข่ ภายในมีจุดเล็ก ๆ เหมือนไข่ปลา ซึ่งหมายถึงที่โคกเนินยังไม่ได้ขุด ในแผนที่แสดงที่ตั้งของวัด สถานที่ราชการสำคัญพร้อมปีสร้าง ดังเช่น จวนข้าหลวงเทศาภิบาลสร้างเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ หอทะเบียนสร้างเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ เป็นต้น

         แผนที่ฉบับนี้พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พร เดชะคุปต์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าเป็นผู้ตรวจให้พนักงานทำตามหลักฐานที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยมีนายแดง ช่างเขียนกองข้าหลวงเกษตร มณฑลกรุงเก่า เป็นผู้เขียน ใช้เวลาทำถึง ๙ ปี ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ถึง ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๔๐ ปี

รูปแผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๙

        แผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๙

         เป็นแผนที่ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้จัดทำขึ้นในขณะดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลอยุธยา และอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกโบราณคดี ตรวจสอบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นแผนที่เขียนด้วยลายมือ มีขนาดกว้าง ๓๕ เซนติเมตร ยาว ๔๒ เมตร มาตราส่วน ๑:๑๑๕๓๐ มีแถบมาตราส่วนบอกระยะความยาวเป็นเส้น ใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกับในแผนที่กรุงเทพทวาราวดี

         แผนที่ฉบับนี้เป็นการสำรวจและเผยแพร่ข้อมูลบริเวณเกาะเมืองขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น ได้แสดงตำแหน่งวัด สถานที่ราชการหลายแห่งพร้อมด้วยปีสร้าง เช่น จวนสมุหเทศาภิบาล สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ หอทะเบียนสร้าง พ.ศ. ๒๔๔๕ และโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้น


รูปภูมิสถานอยุธยาปัจจุบัน

         องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้ประกาศขึ้นทะเบียน นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็น “มรดกโลก” เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่จะสืบทอดเป็นแหล่งเรียนรู้ของโลกสากล จึงเห็นควรเสนอองค์การยูเนสโก (UNESCO) ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบ ๑๕๐ ปี ชาตกาล พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

(จำนวนผู้เข้าชม 1036 ครั้ง)


Messenger