การจัดทำแผนที่กรุงศรีอยุธยา
พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้จัดทำแผนที่กรุงศรีอยุธยา ๒ ฉบับ ได้แก่ แผนที่กรุงเทพทวารวดี พ.ศ. ๒๔๕๐ และแผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๙ แผนที่ทั้งสองฉบับนี้ถือเป็นแผนที่สำรวจผังเมืองสมัยใหม่ เขียนตามหลักวิชาการการทำแผนที่แบบตะวันตก ทำให้มีความน่าเชื่อถือเรื่องความถูกต้องแม่นยำและแสดงสภาพภูมิสถานได้ดีกว่าแผนที่โบราณ ใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
|
รูปแผนที่กรุงเทพทวาราวดี พ.ศ. ๒๔๕๐
|
แผนที่กรุงเทพทวาราวดี พ.ศ. ๒๔๕๐
เป็นแผนที่กรุงเก่าที่พิมพ์โดยกรมแผนที่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาว ๑.๒๐ เมตร มาตราส่วน ๑:๕,๐๐๐ มีแถบมาตราส่วนบอกระยะความยาวเป็นเส้น ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ ระบายสีลงในรูปต่างกัน ตามด้วยคำอธิบายว่าสีน้ำ สีอิฐ ถนนดิน เขียนเส้นประเล็ก ๆ ว่าเป็นเส้นเขตร์ประมาน และสุดท้ายเป็นวงกลมรูปไข่ ภายในมีจุดเล็ก ๆ เหมือนไข่ปลา ซึ่งหมายถึงที่โคกเนินยังไม่ได้ขุด ในแผนที่แสดงที่ตั้งของวัด สถานที่ราชการสำคัญพร้อมปีสร้าง ดังเช่น จวนข้าหลวงเทศาภิบาลสร้างเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ หอทะเบียนสร้างเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ เป็นต้น
แผนที่ฉบับนี้พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พร เดชะคุปต์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าเป็นผู้ตรวจให้พนักงานทำตามหลักฐานที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยมีนายแดง ช่างเขียนกองข้าหลวงเกษตร มณฑลกรุงเก่า เป็นผู้เขียน ใช้เวลาทำถึง ๙ ปี ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ถึง ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๔๐ ปี
|
รูปแผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๙
|
แผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๔๖๙
เป็นแผนที่ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้จัดทำขึ้นในขณะดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลอยุธยา และอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกโบราณคดี ตรวจสอบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นแผนที่เขียนด้วยลายมือ มีขนาดกว้าง ๓๕ เซนติเมตร ยาว ๔๒ เมตร มาตราส่วน ๑:๑๑๕๓๐ มีแถบมาตราส่วนบอกระยะความยาวเป็นเส้น ใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกับในแผนที่กรุงเทพทวาราวดี
แผนที่ฉบับนี้เป็นการสำรวจและเผยแพร่ข้อมูลบริเวณเกาะเมืองขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น ได้แสดงตำแหน่งวัด สถานที่ราชการหลายแห่งพร้อมด้วยปีสร้าง เช่น จวนสมุหเทศาภิบาล สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ หอทะเบียนสร้าง พ.ศ. ๒๔๔๕ และโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้น
|
รูปภูมิสถานอยุธยาปัจจุบัน
|
องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้ประกาศขึ้นทะเบียน นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็น “มรดกโลก” เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่จะสืบทอดเป็นแหล่งเรียนรู้ของโลกสากล จึงเห็นควรเสนอองค์การยูเนสโก (UNESCO) ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบ ๑๕๐ ปี ชาตกาล พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕
|